สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว.” เตรียมนำเสนอแนวทางการส่งเสริม “เอสเอ็มอี” (SMEs) ให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ประกอบด้วย 5 แนวทาง สร้างโอกาสในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท
ผศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า 5 แนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 1.กำหนดโควต้าการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในท้องถิ่นและกลุ่ม Micro ,2.การให้แต้มต่อด้านราคา 3.กำหนดประเภทสินค้าที่จะส่งเสริม 4.กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง และ 5.กำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า
“การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท หากเอสเอ็มอีเข้าสู่งานภาครัฐได้ 10 เปอร์เซ็นต์ จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.3 แสนล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง เอสเอ็มอี รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ เห็นควรกำหนดเพดานวงเงินไม่เกิน 5.7 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงของ WTO”
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด- 19" (COVID-19) ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยแนวทางหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคือ การมุ่งสร้างโอกาสในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐดังกล่าว
“ที่ผ่านมา สสว. ได้ร่วมกับ กองทัพอากาศ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการในกลุ่มการบินและโลจิสติกส์ ธุรกิจป้องกันประเทศ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มดิจิทัล ซอฟแวร์ และ สมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ”
ผศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า นโยบายของผู้บัญชาการกองทัพอากาศ คือ ต้องการเชื่อมโยงธุรกิจโดยกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ โดยบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ มีแผนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ตั้งแต่การเตรียมตัวให้ได้การรับรองมาตรฐาน
และในขั้นต่อไป สสว. จะร่วมกับบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ ในการจัดทำแผนแม่บทความร่วมมือด้านโจทย์การผลิตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานต่อไป