จากกรณีที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 63 ตั้ง บอร์ดใหม่ หรือ กรรมการบริหารใหม่ 4 คน ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบประวัติของบอร์ดใหม่ของ การบินไทย ทั้ง 4 คน ดังนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทยฯ
ปัจจุบันเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 กรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
ในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 16 พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายพีรพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ โดยให้มีผลทันทีในวันเดียวกัน ทำให้ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท ในปี พ.ศ. 2539 ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บทบาทในสภา ฯ ของนายพีระพันธุ์ เป็นไปในทางการตรวจสอบการทุจริต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548 มีผลงานสำคัญคือการสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
"บุญทักษ์ หวังเจริญ" ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท การบินไทยฯ
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาอย่างยาวนาน โดยเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำวางรากฐานทางการเงิน ที่ทำให้ทีเอ็มบีพ้นจากภาวะขาดทุนสะสม และเป็นผู้ที่นำการสร้างแบรนด์ทีเอ็มบี Make THE Difference รวมทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย
และยังดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และกรรมการ รองประธานกรรมการบริหาร กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)
ประสบการณ์ทำงาน 2557-2559 เป็นประธานสมาคม สมาคมธนาคารไทย 2557-2559 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2551-2560 เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 2561-ปัจจุบัน กรรมการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท รองประธานกรรมการบริหาร กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทยฯ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยแรก อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ส.ก.17629 ระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทและเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจบการศึกษาเป็นอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้าทำงานที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติจำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด
ภายหลังลาออกจาก ธนาคารกรุงเทพ ดร.ไพรินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกโพลีเอททีลิน จำกัด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง และบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จนเกษียณจากการทำงาน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทย
เป็นอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้กลับมาบริหารการบินอีกครั้ง ปัจจุบัน เป็นประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานและสิ่งแวดล้อม ประธานกรรมการ และประธานกรรมการอิสระ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จำกัด ประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารกสิกรไทย
เป็นนักวิชาการด้านพลังงาน เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกี่ยวกับพลังงานมามากมาย ทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีครั้งนั้น ดร.ปิยสวัสดิ์ ได้ยกเลิกแผนการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า
หลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับเส้นทางที่เคยนั่งบริหารการบินไทยนั้น พ.ศ. 2552 นายปิยสวัสดิ์ ได้ลาออกจากบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เพื่อสมัครคัดเลือกเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 นับเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยคนที่ 15 ของการบินไทย
ซึ่งช่วงเวลาที่เขาเข้ามาบริหารการบินไทย เป็นช่วงเวลาที่การบินไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสม และมีสถานะทางการเงินที่ลำบาก จึงได้ดำเนินนโยบายลดค่าใช้จ่าย ปรับลดเงินเดือนพนักงาน ปลดพนักงาน ตัดงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็นของบริษัทออกอย่างมหาศาล และปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดีขึ้น จนทำให้ในปี พ.ศ. 2552 การบินไทยสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และทำกำไรเพิ่มขึ้นในปีต่อมา จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2554 การบินไทยได้รับการจัดอันดับจากสกายแทรกซ์ ให้เป็นสายการบินอันดับ 5 ของโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การบินไทยติด 1 ใน 5 สายการบินที่ดีที่สุด แม้ว่าจะช่วยทำให้สถานะของการบินไทยดีขึ้น แต่นโยบายของเขาก็สร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานการบินไทยจำนวนมาก
พ.ศ. 2555 วันที่ 21 พฤษภาคม คณะกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ ได้มีมติเลิกจ้าง นาย ปิยสวัสดิ์ จากการเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย โดยอ้างเหตุผลว่า นายปิยสวัสดิ์มีปัญหาเรื่องการสื่อสารและกับคณะกรรมการบริษัทฯ
จากเหตุการณ์นี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในทันทีจากวงสังคม ถึงเหตุผลในการปลด นายปิยสวัสดิ์ เพราะเหตุผลของคณะกรรมการบริษัทนั้นไม่มีความชัดเจนพอ และมีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์และการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามจากการเลิกจ้างครั้งนี้ การบินไทยต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับ นาย ปิยสวัสดิ์ เป็นจำนวนเงินกว่า 5.4 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่การบินไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุ้ม"การบินไทย" คลังใส่เงินไปเท่าไร
สหภาพฯ "การบินไทย” โวย คลัง หลัง "การบินไทย" พ้น รสก.
คลังทิ้งหุ้น ปลดล็อก ‘การบินไทย’ พ้นมือ ‘ศักดิ์สยาม’
การบินไทย ตั้งบอร์ดใหม่ 4 คน “ปิยสวัสดิ์ “ คัมแบก