“พรก.เงินกู้” อุตตม ยืนยันในการประชุมสภา “โปร่งใส-ตรวจสอบได้”

27 พ.ค. 2563 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2563 | 07:02 น.

“อุตตม” ยืนยัน "พรก.เงินกู้" เราไม่ทิ้งกัน ในที่ประชุมสภา "โปร่งใส-ตรวจสอบได้" ต้องรายงาน ครม. และสภา มั่นใจไม่กระทบเสถียรภาพการเงินประเทศ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับการกู้เงิน หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า เรากู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเท่านั้นไม่กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพราะส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้เงินกู้ แต่เป็นสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำสภาพคล่องมาใช้แก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประเทศเท่านั้น

สถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤติทางสาธารณสุขที่ส่งผลมาถึงเศรษฐกิจ เป็นวิกฤติในระดับโลก หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงไม่ต่างกัน เราไม่ได้สบายใจ เพราะผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรงแน่นอน ซึ่งเป็นผลกระทบที่เฉียบพลัน

ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา คือ

1.การดูแลเยียวยาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนและผู้ประกอบการในทันที เพื่อให้มีเงินในกระเป๋าเพียงพอที่จะยังชีพในภาวะเศรษฐกิจหดตัว เงินในกระเป๋าเป็นสิ่งจำเป็นต้องให้ทันที

2.การดูแลผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะรายเล็กหรือ SME เป็นผู้ที่จ้างงานร้อยละ 80 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ ก็กระทบต่อธุรกิจของเขาและกระทบมาที่เงินในกระเป๋าของประชาชน และจะเป็นวัฏจักรที่กลับไปกระทบต่อการทำธุรกิจต่อเศรษฐกิจโดยรวม

และ 3.การพยายามปกป้องและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทั้งตลาดการเงินและตลาดทุนของประเทศ ทุกภาคส่วนวันนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันหมด

สถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนกับสถานการณ์เมื่อปี 2540 ที่เป็นวิกฤติระดับภูมิภาคและไม่มีเรื่องความเป็นความตายของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง จากเป้าหมายที่มีรัฐบาลได้กำหนดแนวทางที่ใช้กันทั่วโลก โดยองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ได้เสนอแนวทางเชิงนโยบายให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ให้มุ่งเน้นช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางก่อน และใช้มาตรการทางการคลังในวงกว้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางสากลที่ช่วยเหลือประชาชน

การกู้เงินเรามีกรอบที่รัดกุมไม่ได้แตกต่างจากอดีต และการประเมินผลงานก็ใช้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ามาดำเนินการ อย่าง โครงการไทยเข้มแข็ง และ พรก.บริหารจัดการน้ำ และกรณี “เราไม่ทิ้งกัน” ก็มีวัตถุประสงค์ของการตราพระราชกำหนดไม่แตกต่างกัน

ถามว่าการกู้เงินครั้งนี้สมเหตุสมผลหรือไม่นั้น รัฐบาลได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ การเยียวยาและการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบ การกู้เงินครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 6 ต่อจีดีพี หรือร้อยละ 31 ของงบประมาณประเทศ เรามีสัดส่วนการกู้เงินครั้งนี้ไม่ได้กระโดดจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะเป็นการกู้เงินในภาวะวิกฤติ

                                                                     “พรก.เงินกู้” อุตตม ยืนยันในการประชุมสภา “โปร่งใส-ตรวจสอบได้”

นายอุตตม ระบุด้วยว่า การกู้เงินครั้งนี้เราอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและวินัยการเงินการคลัง ซึ่งในอดีตไม่มีกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ภายหลังมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายแทบทั้งสิ้น ผ่านตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัว ได้แก่

1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 57.96 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60

2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ร้อยละ21.2 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 35

3.สัดส่วนหนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 2.53 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน ร้อยละ10

และ 4.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ร้อยละ 0.19 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 5

"ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจริงๆ ผมเชื่อว่าส.ส.ก็ไม่มีใครคาดคิดไว้ก่อนว่าจะมาแรงขนาดนี้ การดำเนินการเยียวยาก็ต้องดำเนินการให้เร็วเช่นกัน ความล่าช้ายอมรับว่าต้องใช้เวลา เพราะเรากำลังใช้งบประมาณแผ่นดินที่ต้องรัดกุม และข้อมูลที่ใช้นั้นข้อมูลประเทศไทยไม่ได้มีความพร้อมที่จะดำเนินการเยียวยาได้เร็วอย่างที่ควรจะเป็น อย่างผู้ประกอบอาชีพอิสระ เราไม่ได้มีข้อมูลว่าเป็นใครที่ไหนบ้าง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องให้มีการลงทะเบียน ครั้นจะจ่ายแบบทุกคน ถ้าทำได้ก็ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในแง่งบประมาณเช่นกัน"

รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสำหรับภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทุกหน่วยงานจะดูแลให้ความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของเรายังคงอยู่และต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศ

เรายอมรับว่ามีปัญหาและล่าช้าบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เช่น อาชีพอิสระ เราไม่ได้มีถังข้อมูลที่จะชี้ชัดว่าอาชีพอิสระอยู่ที่ไหน ใครบ้าง เป็นเหตุผลที่ทำไมต้องเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อให้ประชาชนเข้ามา ถ้าทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเช่นกัน และทรัพยากรที่มีอยู่ ต้องเน้นที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อน แต่เรามีการดูแลทุกประเภท เช่นแรงงานอิสระ เกษตรกร แรงงานในระบบ เจ้าหน้าที่ส่วนภาครัฐก็มีการดูแลอยู่ตามปกติอยู่แล้ว

“ยอมรับว่ามีความล่าช้า และมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการในเรื่องนี้ และรับฟังข้อชี้แนะนำทุกอย่าง ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ทำงานหนักจริงๆ โดยมีการนำมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยรัฐบาลจะดูแลให้ดีที่สุด แม้วิกฤติจะพ้นไป แต่ยังต้องดูแลต่อเนื่องทั้งการฟื้นฟู และคำนึงถึงข้อมูลที่ได้มาเพื่อจะได้นำไปใช้ เช่น อาชีพอิสระเป็นโอกาสให้เราได้เก็บข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายบริหารประเทศในอนาคต” รมว.คลัง กล่าว