แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่จะขอใช้ในวงเงินกู้ 4 แสนล้าน หลายกระทรวงเริ่มชัดเจนขึ้นแล้ว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดแผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอ 2 โครงการ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการซ่อมสร้างแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเน้นพื้นที่ชุมชน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท และอีก 1 หมื่นล้านเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ไทยเที่ยวไทย โดยจะเสนอให้สภาพัฒน์ฯ พิจารณาในวันที่ 5 มิ.ย.นี้
การกระตุ้นไทยเที่ยวไทย จะให้เริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนก.ค.นี้ สิ้นสุดต.ค.นี้ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว จากที่ผ่านมาแทบจะไม่มีรายได้เพื่อให้พอประคองตัวไปได้ในระหว่างที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) กล่าวเสริมว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท จะมี 2 โครงการ ได้แก่
1. แพ็กเกจ “กำลังใจ” เพื่อตอบแทนบุคคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะสนับสนุนงบประมาณ 100% สำหรับการศึกษาดูงาน ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมจำนวน 1.2 ล้านคน เป็นแพ็กเกจทัวร์ 3 วัน 2 คืน โดยต้องซื้อผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศเท่านั้น เพื่อให้บริษัทนำเที่ยว รถเช่า โรงแรม มัคคุเทศก์ ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว
4 ล้านคนเที่ยวไทย
2.โครงการ “เที่ยวปันสุข” กระตุ้นการเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งจะมีการสนับสนุนเงินให้ส่วนหนึ่ง เพื่อกระตุ้นไทยเที่ยวไทย โดยจะแจกเป็นบัตรกำนัลดิจิทัล (อี-เวาเชอร์) มูลค่า 2-3 พันบาท สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 4 ล้านคน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างททท.และธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะมีการเปิดลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ซื้อบัตรเวาเชอร์สำหรับเป็นค่าห้องพัก เมื่อประชาชนนำเวาเชอร์ดังกล่าวไปเช็กอินห้องพัก รัฐจะโอนเงินคืนให้กับประชาชน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้จ่ายในโรงแรม เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร สปา สินค้าที่ระลึก
ช่วยSMEsติดหล่ม
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอขอให้เงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน โดยจะมีการหารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อหามาตรการมาดูแลกลุ่มนี้ เพราะเอสเอ็มอีที่มีปัญหาไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่อาจจะมีปัญหาด้านเทคนิค การตลาด การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะต้องดูเป็นรายกรณีไป โครงการนี้ไม่ใช่สินเชื่อปกติเหมือนที่ปล่อยให้กับเอสเอ็มอีทั่วไป
อัดฉีด“แปลงใหญ่”
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯเผยว่า ด้านการเกษตรจะเน้นเกษตรสมัยใหม่เกษตรอัจฉริยะเบื้องต้นจะให้งบอุดหนุนโครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด (6,800 แปลง) ไม่เกินแปลงละ 3 ล้านบาท งบประมาณอุดหนุนแผนพัฒนาศักยภาพศูนย์ข้าวชุมชน (2,800 ศูนย์) ไม่เกินศูนย์ละ 2 ล้านบาท
หนุนสู่โรงงาน 4.0
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่วยบำรุงรักษาเครื่องจักรโรงงานที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เพื่อเตรียมพร้อมการขอแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชูโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รองรับวิถีความปกติใหม่ เป้าหมาย 14,150 กิจการ ครอบคลุม 500 หมู่บ้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ถูกทางยั่งยืนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 96,000 ล้านบาท
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงเรื่องทึ้งงบเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมหลังโควิด-19 จากการเปิดประเด็นของนายพิจารณ์ เชาววัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระหว่างอภิปรายวาระพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ระบุ ว่ารัฐบาลเตรียมกันงบประมาณ 80 ล้านบาทให้ส.ส.แต่ละราย กำหนด การใช้โครงการต่างๆ ผ่านทางจังหวัด จนสังคมที่กังวลนักการเมืองจ่อทึ้งผลประโยชน์งบรัฐ
เมื่อถูกจี้ถามหาหลักฐานในที่สุดนายพิจารณ์รับว่าไม่มี เพียงแต่ได้ยินมา อ้างว่าเป็นการพูดคุยระหว่างส.ส.ด้วยกันทั้งในพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล และยกอดีตมาสนับสนุนว่า เรื่องนี้มีมานานแล้วที่เรียกว่างบส.ส. แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 144 บัญญัติห้ามส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณ ส.ส.จะผันงบลงพื้นที่ตนเองทำไม่ได้ ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ
โต้“เป็นไปไม่ได้”
เรื่องนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า เป็นไปได้ยากมาก เพราะการจัดสรรเงินเพื่อใช้ในแต่ละโครงการเป็นการเสนอรายกระทรวง ไม่ได้ให้สส.เป็นผู้เสนอแผนโครงการ ขณะเดียวกันยังมีขั้นตอนการพิจารณาตั้งแต่ระดับกระทรวง เสนอไปยังคณะกรรมการกลั่นกรอง โดยที่คณะกรรมการกลั่นกรองจะมีคณะอนุฯพิจารณากลั่นกรองแต่ละโครงการก่อน จากนั้นจึงนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองชุดใหญ่ หากเห็นชอบจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ (วันที่ 7 มิ.ย.) เมื่อครม.เห็นชอบแล้ว จึงจะส่งมาให้กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินให้ตามโครงการที่ต้องการใช้เงิน
“ถ้าพิจารณาจากกระบวนการจะเห็นว่ามีหลายขั้นตอนก่อนที่จะได้รับวงเงิน และหากดูรายชื่อคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงไม่น่าจะสามารถทำได้เหมือนที่สส.ฝ่ายค้านพูดถึง”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "ไทยเที่ยวไทย" เคาะแพ็กเกจสัปดาห์นี้