"GAC AION-BOI" ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่อุตฯ "EV" ดันขึ้นแท่นฮับอาเซ๊ยน

08 พ.ย. 2567 | 08:46 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2567 | 08:46 น.

"GAC AION-BOI" ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่อุตฯ "EV" ดันขึ้นแท่นฮับอาเซ๊ยน มุ่งรองรับการเดินเครื่องผลิตรถยนต์ EV ในปี 2568 สอดรับนโยบาย 30@30 ของไทย คาดเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,250 ล้านบาท

นายโอเชียน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ครบวงจรในอาเซียน

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ดำเนินการหาหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยผ่านการเจรจาธุรกิจในงาน AION Sourcing Day รองรับการเดินเครื่องผลิตรถยนต์ EV ในปี 2568 สอดรับนโยบาย 30@30 ของไทย

อย่างไรก็ดี บริษัทมุ่งดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาที่เน้นการเติบโตในระยะยาว ผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งใจที่จะขยายฐานในประเทศไทย และนำระบบที่ครบวงจรเข้ามาพัฒนาต่อยอดในประเทศ งาน Sourcing Day ดังกล่าวถือเป็นการยืนยันถึงการผนึกกำลังกับทรัพยากรที่มีคุณภาพในท้องถิ่น เพื่อผลักดันระบบอุตสาหกรรมออกไปสู่ระดับโลก
 

สำหรับบริษัท ไอออน ออโตโมบิลนั้น เป็นผู้ผลิตรถยนต์ EV จากประเทศจีน ที่มียอดขายสูงสุดสามอันดับแรกของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ทั่วโลก ด้วยยอดขายรวมกว่า 480,000 คันต่อปี และมีอัตราการเติบโตด้านยอดขาย เพิ่มเฉลี่ย 77% ต่อปี 

"GAC AION-BOI" ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่อุตฯ "EV" ดันขึ้นแท่นฮับอาเซ๊ยน

โดยเมื่อปี 2566 ทาง GAC AION ได้ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 20,000 คันต่อปี ถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่แห่งแรกในต่างประเทศของบริษัท ซึ่งในอนาคตบริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อป้อนให้กับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามโครงการนี้
 
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI กล่าวว่า จากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้มียอดเจรจาธุรกิจ 74 บริษัท โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,250 ล้านบาท
 

"การจัดงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้มีโอกาสเข้าสู่ Supply Chain ของ EV ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ การรับช่วงการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย"

โดย GAC AION ก็จะได้พบกับซัพพลายเออร์ในประเทศที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับค่ายรถยนต์ระดับโลกมาแล้ว อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานของ GAC AION จะช่วยให้โรงงานสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลง 

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ