เพราะการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หรือ เมืองการบินอู่ตะเภา ของกลุ่ม กิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่ปัจจุบัน คือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ในโครงการนี้ ทั้ง 4 เฟส บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ที่จะเริ่มลงทุนในปี2565 เป็นต้นไป ใช้งบอยู่ที่ 124,717 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 61,849 หมื่นล้านบาท เป็นงบสำหรับการซ่อมบำรุงรักษาสนามบินที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับการลงทุนจะเป็นในลักษณะขั้นบันได เช่น สร้างเฟส1 รับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน การลงทุนในเฟส 2 ก็จะเริ่มเมื่อผู้โดยสารใช้บริการเกินกว่า 85%ในเฟส 1
สัดส่วนการใช้เม็ดเงินจึงกระจายตัว เฟส 1 ลงทุนอยู่ที่ 17% เฟส2 อยู่ที่ 13% เฟส3 อยู่ที่ 17% และเฟส4 อยู่ที่ 20% และงบสำหรับการซ่อมบำรุงรักษาสนามบินที่จะเกิดขึ้นตลอด 50 ปี อยู่ที่ 33% โดยมองการลงทุนไว้ที่เฟสละ10 ปี ซึ่งการลงทุนก็ไม่ยาก ควบคุมค่าก่อสร้างได้ง่าย เนื่องจากเป็นการลงทุนในพื้นที่ว่างเปล่า เป็นที่ดินของกองทัพเรือ(ทร.)ไม่มีปัญหาเรื่องการเวรคืน
ไม่เพียงการยืดหยุ่นของการลงทุนเท่านั้น ในแง่ของการสร้างรายได้ เทียบสเกลเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิที่ในปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการร่วม 62.8 ล้านคน เอกชนนอกจากจะมีรายได้หลักมาจากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน(พีเอสซี) ที่เรียกเก็บจากผู้โดยสาร หัวละ 700 บาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่คาดว่าเป็นสัดส่วนกว่า 88% ที่จะมาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา เอกชนยังมีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็นฮับการบินของโครงการฯ
โดยจะมีพื้นที่รวมกว่า 1.89 ล้านตรม.ที่เอกชนสามารถ สร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นดิวตี้ฟรี ร้านค้า ภัตตาคารโรงแรม ในโซนคอมเมอร์เชี่ยล เกตเวย์ รวมไปถึงศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อาคารพักอาศัยและอาคารสำนักงาน ในโซนแอร์พอร์ต ซิตี้ และการหาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน ในส่วนของคาร์โก้ฟรีโซนและเขตปลอดอากร
กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เหล่านี้ นอกจากจะเปิดสัมปทานต่อให้เอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุน หรือบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อแลกกับการกินส่วนแบ่งรายได้ เหมือนอย่างที่ทอท.เปิดสัมปทานพื้นที่ Non-aero กินส่วนแบ่งรายได้ราว 15%ในแต่ละกิจกรรมแล้ว
ในหลายกิจกรรม ทั้ง 3 บิ๊กธุรกิจเอกชนในนาม UTA ไม่ว่าจะเป็น บางกอกแอร์เวย์ส,บีทีเอส และ ซิโน-ไทย ก็ยังมองไว้แล้วที่จะแบ่งเค้กปักหมุดการลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อต่อยอดธุรกิจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นดิวตี้ฟรี ที่ทางบางกอกแอร์เวย์สก็สามารถดำเนินการเองได้
สำหรับบีทีเอสเอง ก็มีแผนดึง บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อและโฆษณาในพื้นที่เมืองการบิน เช่นเดียวกับบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่บีทีเอสถือหุ้น ก็จะนำเข้ามาทำธุรกิจศูนย์ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ทั้งยังมีพันธมิตร อย่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ บมจ.แสนสิริ และ บมจ.ยู ซิตี้ เอง ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบีทีเอส เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน
ประเมินเบื้องต้น ถ้าโครงการนี้มีรายได้ต่อปีอยู่ราว 5-6 หมื่นล้านบาท เทียบเคียงรายได้ของทอท.ในปี 2561 กับภาระการจ่าย การันตรีผลตอบแทนขั้นต่ำให้รัฐในแต่ละปี ที่เริ่มตั้งแต่ 3 ปีแรกที่ 100 ล้านบาท ไต่ไปถึงระดับพันล้านบาทในปีที่ 24 และหลักหมื่นล้านบาทในปีที่ 25 และสูงสุดปีที่ 50 ที่ 8.4 หมื่นล้านบาท หรือ 5% ของรายได้ ก็ถือว่าจิ๊บๆ
นี่เองจึงทำให้การลงทุนในโครงการนี้ทางบริษัทจึงประเมินว่าโครงการนี้จะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน(IRR) เป็นตัวเลข 2 หลัก ใช้ระยะเวลาคืนทุนในปีที่ 15-16 ตามแผนงานจากนี้หลังลงนามสัญญา ภาครัฐจะมีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(Notice to Process: NTP) ภายใน18 เดือน จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และมีเวลาบริหารสัมปทาน อีก 47 ปี
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน- 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563