นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ได้จัดทำนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนมาแล้วอย่างน้อย 15 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการเราไม่ทิ้งกัน เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง (มาตรการเยียวยา 5,000 บาท)
2. โครงการบ้านดีมีดาวน์ เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง และเป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไป ยังห่วงโซ่อุปทานของภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
3.โครงการชิมช้อปใช้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้กับประชาชน โดยการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet)
4.มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน
5.โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่าย หมุนเวียนในการดำเนินกิจการให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม
6. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
7.มาตรการ Soft Loan ธนาคารออมสิน เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
8. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 ของ บสย. เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้
9.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. Soft Loan ของ ธปท. เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานต่อไปได้ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19
10.พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. BSF ของ ธปท. เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ COVID-19 ให้สามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้
11.พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563)
12.มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563)
13.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระยะที่ 1 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563)
14.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระยะที่ 2 (มติ ครม. 24 มีนาคม 2563)
และ 15.มาตรการอื่นๆ อาทิ 1. การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า และ 2.การยกเว้นอากรขาเข้ายาสูตรผสมที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะเดินหน้าออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย ซึ่งขณะนี้นายอุตตมได้สั่งการไปแล้ว และจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป