เครือซีพี ชูวิสัยทัศน์องค์กรบนเวทีระดับโลก

15 ก.ค. 2563 | 10:19 น.

เครือซีพี ชูจุดยืนองค์กรท่ามกลางภาวะวิกฤติโควิด -19 ยึดหลัก “การจ้างงานต่อเนื่อง – ความมั่นคงทางอาหาร – การสร้างสุขภาวะที่ดี”

งานเสวนาในวาระพิเศษออนไลน์ระหว่างการประชุมประจำปีของสหประชาชาติเพื่อทบทวนความคืบหน้าของ SDGs หรือ High-level Political Forum on Sustainable Development 2020 จัดขึ้นโดย World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ร่วมกับ United Nations Department of Economic and Social Affairs (UN DESA) 

ภายในดังกล่าวมีผู้บริหารด้านความยั่งยืนของบริษัทระดับโลกหรือChief Sustainability Officers for SDGs มาร่วมเสวนในหัวข้อ “Building Back Better: Navigating Business Risks and Opportunities in a Post-COVID World” ประกอบด้วย นางสาวอเล็กซานดร้า แบรนด์ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท ซินเจนทา จำกัด ,นางสาวแคโรไลน์ รีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันชิฟท์ (องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน) ,นายอลัน ไนท์ ผู้จัดการทั่วไปด้านความรับผิดชอบองค์กร บริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล จำกัด ,นางสาวมาร์ติน่า กัวร์นาเชลลี กระทรวงต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ อาร์เจนตินา และนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นตัวแทนเครือฯเข้าร่วม

เครือซีพี ชูวิสัยทัศน์องค์กรบนเวทีระดับโลก
นายนพปฎล กล่าวว่า เครือฯ ได้บรรเทาผลกระทบ และพัฒนาต่อยอดให้เศรษฐกิจและสังคมสามารถเดินต่อไปหลังวิกฤต สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยเครือฯ ได้เผชิญกับความท้าทายสำคัญ 3 ด้านจากวิกฤตครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงในการจ้างงาน ซึ่งเครือฯ ได้ประกาศนโยบายรักษาการจ้างงานและไม่เลิกจ้างพนักงานจำนวนกว่า 360,000 คนทั่วโลก

"แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เครือฯมีแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพที่สามารถดูแลพนักงานได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างทั้งครอบครัวพนักงานและคู่ค้า ช่วยให้ธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานยังคงขับเคลื่อนไปได้"
 

2. ความมั่นคงทางอาหาร เครือฯ ได้สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคว่าจะมีอาหารเพียงพอกับความต้องการ โดยในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ ผู้บริโภคมีความตื่นตระหนกและกักตุนสินค้า โดยเฉพาะอาหาร ซึ่งหัวใจหลักในการบริหารจัดการของเครือฯ ยังคงวางจำหน่ายอาหารพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเพียงพอแก่ความต้องการของผู้บริโภค และประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพที่่ปลอดภัยได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยหยุดความตื่นตระหนกขณะนั้น


นอกจากนี้ เครือฯ ได้ส่งอาหารฟรีให้แก่ผู้ที่สูญเสียรายได้ และผู้ที่ต้องกักตัวเองอยู่บ้าน อีกทั้งยังพัฒนาอาหารพร้อมทานราคาถูกเพื่อช่วยลดค่าครองชีพสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วย

 

3. สุขภาพและสุขภาวะที่ดี เครือฯ ได้จัดสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์จากปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลและประชาชนทั่วไปแล้วเสร็จภายใน 5 สัปดาห์ มีกำลังผลิต 3 ล้านชิ้นต่อเดือน เพื่อแจกจ่ายให้กับสถานพยาบาลและองค์กรมนุษยธรรมทั่วประเทศ 

 

“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ได้เปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนยุทธศาสตร์อีกครั้ง หลายคนมองว่าวิกฤตนี้เหมือนการซ้อมใหญ่สำหรับวิกฤตใหญ่อื่น ๆ ที่จะตามมา โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราได้เรียนรู้วิธีการรับมือวิกฤตรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ นอกจากการบริจาคสินค้าและเงินแล้ว การทำงานร่วมกันแบบใหม่ได้เกิดขึ้นจากการรวมความคิดและความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และที่สำคัญ การผนึกกำลังต่อจากนี้ต้องเป็นไปในระดับสากลเพื่อให้ประชากรของโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน และก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” 
 

ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาคนอื่น ๆ ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ อาทิ ความสำคัญของนวัตกรรมในภาคเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้ที่ดินและสารเคมี รองรับความต้องการอาหารและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เครือซีพี ชูวิสัยทัศน์องค์กรบนเวทีระดับโลก
ส่วนอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญหลังวิกฤตนี้ คือ ประชาคมโลกยังต้องเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้น้อยที่สุด หรือใกล้เคียง Zero Carbon เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส 

นางสาวแคโรไลน์ รีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันชิฟท์ ในฐานะองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาโควิด-19 ที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมองว่าภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ นอกจากผู้ถือหุ้น และกล่าวชื่นชมเครือซีพีที่รักษาการจ้างงาน รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย