เปิดเวทีเสวนา Exclusive Talk โครงการหนังไทยสร้างชาติ ภายใต้หัวข้อ “เมื่อหนังไทยติดโควิด-19” วันนี้ ภาครัฐ-เอกชนร่วมระดมพลังสมอง นำเสนอแนวทางความร่วมมือและการจัดตั้งกลไกภาครัฐ-เอกชน ที่จะช่วย เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป
วันเสาร์ที่ 18 ก.ค. 2563 นี้ เวลา 13.3.-15.30 น. ที่โรงภาพยนตร์ 13 เมเจอร์รัชโยธิน ตัวแทนภาครัฐและตัวแทนเอกชนจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จะร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อนำเสนอแนวทางในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลจากภาพยนตร์ ซึ่งเป็นทั้ง “สินค้าทางวัฒนธรรม” และเป็น Soft Power ที่มีอิทธิพลสูง เช่นที่หลายประเทศได้ทำจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน
ทั้งนี้ ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดีทัศน์ (รวมเกมออนไลน์ ธุรกิจเพลง ภาพยนตร์ออนไลน์ และแอปพลิเคชัน) มาแล้ว 3 ระยะนับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยระยะที่ 1 พ.ศ. 2552-2554 ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 และระยะที่ 3 พ.ศ.2560 – ปัจจุบัน ดำเนินการผ่านหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในนาม “ทีมประเทศไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูมไทยฮับภาพยนตร์-วีดีทัศน์ระดับโลก โกยรายได้2 แสนล.ต่อปี
ผุด “กองทุนเยียวยาอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์”
เมเจอร์ เดินหน้าธุรกิจสู่ '5.0'
หนัง-ละครไทยเนื้อหอม ออกงาน FILMART ฮ่องกง 2 วันโกย2 พันล.
เป้าหมายที่ชัดเจนคือการนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของอาเซียนและเป็นแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สำคัญในตลาดโลก ใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สร้างสรรค์สังคม สร้างการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในประชาคมนานาชาติ
ที่ผ่านมา การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยรายงานปี 2552 ระบุว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ โดยไม่รวมรายได้อื่นจากธุรกิจแวดล้อมอยู่ที่ 56,168 ล้านบาท เติบโต 38% ในปี 2554 เป็น 77,512 ล้านบาท จนกระทั่งในปี 2557 ได้เกิดการวิวัฒน์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่ารายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (รวมเกมออนไลน์ ธุรกิจเพลง ภาพยนตร์ออนไลน์ และแอปพลิเคชัน) ซึ่งร่วมกับมูลค่าธุรกิจการจำหน่ายภาพยนตร์แบบดั้งเดิม (Modern Trade บวก Traditional Trade) จะมีมูลค่าประมาณการสูงถึง 400,000 ล้านบาท และในปี 2562 คาดว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยรวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในกลุ่มอาเซียนและอยู่ในอันดับ 5 ในภูมิภาคเอเชีย รองจาก ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม การต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯต่อไปในอนาคตนั้น จะต้องพบกับความท้าทายอีกหลายประการ ซึ่งรวมทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนที่ก้าวกระโดดไล่ตามติดประเทศไทยมากขึ้นจนพร้อมแข่งขันทั้ง อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งต่างก็มีภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขวัญในระดับโลก เช่น THE RAID (2011, จากอินโดนีเซีย กำกับโดย Gareth Evans) JAILBREAK (2017, จากกัมพูชา กำกับโดย Jimmy Henderson) JURIE (2019,จากเวียดนาม กำกับโดย Le-Van Kiet) ขณะเดียวกันประเทศไทยยังจะต้องเติบโตเพื่อไปขับเคี่ยวกับประเทศกลุ่มผู้นำอย่างญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้
ในเวทีการเสวนาครั้งนี้ จึงจะมีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอจัดตั้งองค์กรใหม่หรือใช้องค์กรที่มีอยู่ เช่น สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติหรือหน่วยงานอิสระอื่น ๆ เฝ้าติดตามแก้ไขปัญหาด้านเงินทุน บุคลากร หรือจำนวนภาพยนตร์ที่ยังมีไม่เพียงพอ รวมทั้งการเสนอขอเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี โดยกำหนดเงินทุนปีละ 500,000,000 ล้านบาท หรือมากกว่า เป็นระยะเวลา 6 ปี รวมเงินทุนมูลค่า 3,000,000,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังจะมีการนำเสนอ “โครงการภาพยนตร์แห่งชาติ” เพื่อมอบทุนสร้างในการผลิตภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่สามารถทำรายได้หรือสร้างชื่อเสียงในระดับประเทศ ถึงระดับโลก เพื่อให้เกิดหัวหอกของ Soft Power เป็นการดึงดูดความสนใจมาสู่ภาพยนตร์ไทย และยังจะมีการนำเสนอโครงการสร้างและสนับสนุนบุคลากร ทั้งบุคลากรในส่วนงานการผลิต การตลาดและจัดจำหน่าย ผ่านการให้ทุนการศึกษา เพื่อเป็นกำลังหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์และทักษะในการนำเสนอ สื่อสารและส่งออก ภาพยนตร์ไปสู่นานาอริยประเทศให้ประสบความสำเร็จต่อไป
เพื่อการพัฒนาให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม ได้มีการเป้าหมายไว้ว่า ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่สามารถสร้างภาพยนตร์ให้ประสบความสำเร็จ จะเกิดการสร้างมูลค่าทางการตลาดและเศรษฐกิจโดยรวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท สามารถสร้างงานในระบบได้อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา และสามารถสร้างภาษีคืนกลับไปให้ภาครัฐบาลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
สำหรับตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารจากเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ คุณยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง และผู้เขียนบทภาพยนตร์ชื่อดัง คุณเกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารจากค่ายไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น คุณพิทยา สิทธิอำนวย และคุณสง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ผู้บริหารจากค่ายภาพยนตร์ ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ส่วนตัวแทนภาครัฐ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มดาวฤกษ์ คุณวทันยา วงษ์โอภาสี คุณธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ คุณสันติ กีระนันท์ และคุณภาดาท์ วรกานนท์