ถก CPTPP ข้อกังวลอื้อ หวั่นเสียเปรียบ

01 ส.ค. 2563 | 11:50 น.

อนุกรรมาธิการฯถกเข้ม CPTPP พบข้อกังวลอื้อ ทั้งผลการศึกษาครอบคลุมแค่ผลประโยชน์จากการลดภาษี 100% ยังไม่อัพเดตรวมถึงผลกระทบจากโควิด ท่องเที่ยว-โลจิสติกส์ ห่วงเปิดเสรีเปิดทางต่างชาติถือหุ้น 100% กระทบความเป็นเจ้าของและอำนาจต่อรอง

จากที่มีหลายภาคส่วนท้วงติงถึงการเตรียมขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเข้าร่วมเจรจาเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิก (CPTPP) จะเกิดผลกระทบในวงกว้างในหลายประเด็น คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากเข้าร่วมความตกลง CPTPP สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวีระกร คำประกอบ เป็นประธาน จึงได้ขอขยายเวลาในการพิจารณาศึกษาออกไปอีก 60 วัน (สิ้นสุด 10 ก.ย.63) เพื่อให้เกิดความรอบคอบนั้น

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ CPTPP ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่มีนายเกียรติ สิทธีอมร เป็นประธานได้มีการประชุมตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 จำนวน 6 ครั้ง ได้พิจารณาประเด็นสำคัญไปแล้ว 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ภาพรวมการประเมินผลกระทบ และ Post COVID 2.การค้าสินค้า รวมถึงการเปิดตลาด ประเด็น Free Zone และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3.การค้าบริการ การลงทุน และการเข้าเมืองชั่วคราวสำหรับนักธุรกิจ 4.ประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และ 5.การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ)

 

ทั้งนี้ในประเด็นภาพรวมการประเมินผลกระทบ และ Post COVID ที่ประชุมได้รับทราบว่า ผลการศึกษาของบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ว่าจ้างให้ทำการศึกษาเรื่อง CPTPP ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของประโยชน์และผลกระทบ หากไทยเข้าร่วมและไม่เข้าร่วม CPTPP ภายใต้สมมติฐานการลดกําแพงภาษีสินค้าระหว่างสมาชิกเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สุพันธุ์” ชี้ญี่ปุ่นหนุนไทยเข้าร่วม “CPTPP”

ไส้ใน CPTPP 11 ประเทศ ขอผ่อนปรนอื้อ

เปิดเอกสารข้อตกลง CPTPP องค์การเภสัชฯ แจงยิบ ค้านไทยเข้าร่วม

 

ที่ประชุมมีข้อสังเกตและห่วงกังวลว่า 1.สมมติฐานการเปิดเสรีการค้าทันที่ 100% ในผลการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และมิได้คํานึงถึงระยะทางและต้นทุนค่าขนส่ง ในกรณีประเทศสมาชิกที่อยู่ห่างไกล (เช่นแคนาดา เม็กซิโก) 2.ผลการศึกษามิได้คํานึงถึงประโยชน์และผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงประเด็นด้านสังคมและความมั่นคง

ถก CPTPP ข้อกังวลอื้อ หวั่นเสียเปรียบ

 

3.ผลการศึกษาได้เสร็จสิ้นในปี 2562 จึงไม่ครอบคลุมถึงสถานการณ์โควิด-19 และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 4.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการทํา FTA เพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ศักยภาพ ในการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบภายในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น คุณภาพ บุคลากร เสถียรภาพทางการเมือง และต้นทุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วมความตกลง CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ FDI ของไทยเพิ่มสูงขึ้น

 

ส่วนในประเด็น การค้าบริการ การลงทุน และการเข้าเมืองชั่วคราว ผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงภาคบริการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ มีความกังวลเรื่องการเปิดตลาด เช่น การให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติสูงถึง 100% จะกระทบต่อความเป็นเจ้าของและอำนาจต่อรอง รวมถึงการเปิดตลาดสาขาที่ทำให้ผู้ประกอบต้องแข่งขันสูงขึ้น และการเปิดให้คนต่างด้าวมาทำงานในอาชีพสงวน อย่างไรก็ดีที่ประชุมรับทราบว่าไทยสามารถเจรจาต่อรองและจัดทำข้อสงวนที่จะไม่เปิดตลาดได้ ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการเพื่อกำหนดท่าทีของไทยที่ชัดเจนต่อไป

 

“ความกังวลเรื่องผลกระทบจากการเปิดตลาดภาคบริการสาขาต่าง ๆ เช่นท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ก่อสร้าง และการขนส่ง เป็นต้น และได้มอบหมายให้คณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ไปศึกษาเพิ่มเติม และประเมินว่าบริการสาขาใดที่พร้อมเปิดตลาด เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาในที่ประชุมต่อไป”

หน้า 2  ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563