แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เผย ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ขาดทุน 877 ล้านบาท
โดยมีรายได้รวม ไตรมาส 2 ปี 2563(เม.ย. – มิ.ย.) ที่ 775 ล้านบาท หรือลดลง 75.6% บาท จาก 3,182 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์จากทางภาครัฐในช่วงปลายเดือนมี.ค. ถึงปลายพ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ในไตรมาสแรกปี2563บริษัทฯ กำไรอยู่ 108 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี2563 AWC ขาดทุนสุทธิ 768ล้าน
อย่างไรก็ตาม AWC เริ่มฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศตั้งแต่เดือนมิ.ย. หลังจากโรงแรมบางแห่ง ที่กลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค. สามารถสร้างผลประกอบการเดือนมิ.ย. ได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับของการท่องเที่ยวในประเทศที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
อีกทั้ง AWC ยังจะเดินหน้าตามแผนพัฒนาโครงการเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเร่งปรับโครงสร้างองค์กร ควบคู่กับมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย (Cost Control & Efficiency Initiatives) อย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ให้สอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์หลักทางธุรกิจขององค์กร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เราเที่ยวด้วยกัน"ทายาทเจ้าสัวเจริญ ชู "AWC"
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์จากทางภาครัฐในช่วงปลายมี.ค. ถึงปลายพ.ค. 2563
ส่งผลให้บริษัทประกาศปิดดำเนินการโรงแรมเกือบทั้งหมด และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่บริษัทได้รับผลกระทบหนักที่สุด
AWC ยังคงเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเติบโตระยะยาว รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการประสิทธิภาพค่าใช้จ่ายและออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เช่า ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ AWC ยังคงได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ด้วยกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ทั้งนี้ หลังจากภาครัฐได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 คลายล็อกดาวน์ระยะที่2 ในปลายเดือนพ.ค. โรงแรมภายใต้ AWC บางส่วน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ได้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง โดยมีผู้บริโภคภายในประเทศกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของบริษัทในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
นางวัลลภา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิของไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ 877 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากรายได้ในช่วงเดือนมิ.ย. ที่อยู่ช่วงฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ และรายได้ที่มั่นคงจากกลุ่มอาคารสำนักงาน
ด้วยความพร้อมในด้านความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และมาตรการดูแลพนักงาน และโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการโครงการต่างๆ ได้ทันทีหลังภาครัฐได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ในช่วงปลายเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท และ สปา ซึ่งเป็นโรงแรมแรกที่เปิดดำเนินการได้หลังการผ่อนปรนระยะที่ 2 ทำให้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์(1) สูงถึง 98 %และในภาพรวมอัตราเข้าพักเฉลี่ยยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รวมถึง AWC ยังได้จัดสรรโปรแกรม Bangkok Holidays Lifestyle, Gift of Happiness ด้วยข้อเสนอพิเศษ ด้วยห้องพักจากโรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล และโรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ เพื่อเป็นการกระตุ้นความต้องการของนักท่องเที่ยวในประเทศ และช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness)
โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจากทั้ง 2 โรงแรมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์(1) สูงถึง 70%
ในขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail) ได้มีการฟื้นตัวของจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการโครงการ (Traffic) อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการลาซาล อเวนิว ที่มีจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการคิดเป็น 93% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
"ทั้งนี้ด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ของ AWC กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) ยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่อง โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ของร้านค้าเช่าในอาคารสำนักงาน”
อีกทั้ง AWC ยังคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด (Cost Control & Efficiency Initiatives) ซึ่งรวมถึงการดำเนินการบริหารจัดการสภาพคล่องของทุกส่วนงานของบริษัท (Cash Pooling) ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมไตรมาส 2ปี 2563 อยู่ที่ 761 ล้านบาทลดลง 56.8% จาก 1,761 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน AWC ยังริเริ่มในการนำความโดดเด่นของพอร์ทโฟลิโอที่หลากหลายทั้งในด้านกลุ่มธุรกิจ และที่ตั้งโครงการมาใช้ในการตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบ New Normal ให้กับกลุ่มลูกค้าต่างๆ อย่างครบวงจร ด้วยบริการรูปแบบใหม่ “AWC INFINITE LIFESTYLE” ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้ามาใช้บริการระดับพรีเมียม ตอบโจทย์ทุกรูปแบบไลฟ์สไตล์ทั้งการทำงานและพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยแพคเกจที่กำหนดระยะเวลาได้ตามที่ต้องการ
AWC ยังคงเชื่อมั่นในธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย อีกทั้งความแข็งแกร่งที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกด้านมาตรฐานสุขอนามัย ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มสุขภาพ (Wellness) และนักท่องเที่ยวกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay)
AWC จึงมุ่งมั่นเดินหน้าตามแผนพัฒนาโครงการคุณภาพ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท พนักงาน ลูกค้า นักลงทุน ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสู่เป้าหมายการเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน นางวัลลภากล่าวทิ้งท้าย