ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จังหวัดระยอง เห็นชอบปรับปรุงรายละเอียดมาตรการ เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. สัญจร จ.ระยอง เห็นชอบการเพิ่มสิทธิในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ได้แก่
1. เพิ่มสิทธิการจองห้องพักจากเดิมไม่เกิน 5 คืนต่อคน ขยายเพิ่มเป็นไม่เกิน 10 คืนต่อคน
2. ขยายการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินในการเดินทางท่องเที่ยวจากเดิมไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน เป็นไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน เพื่อจูงใจให้คนเดินทางไปในจังหวัดที่ไกลขึ้น
3. รับทราบในหลักการขยายฐานการใช้สิทธิ์สำหรับบริษัท เพื่อก่อให้เกิดการพยุงเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
โดยให้สิทธิ์บริษัทจองที่พักและบัตรโดยสารเครื่องบินตามแพ็กเกจที่กำหนดเพื่อใช้ในการจัดอบรมประชุม สัมมนา ดูงาน สำหรับพนักงาน ส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้และเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เราเที่ยวด้วยกัน’ เข็นไม่ขึ้น แก้เกมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่
จ่อดึง 700 บริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ เที่ยววันธรรมดา
“ภูเก็ต โมเดล”ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ นำร่องดึงต่างชาติเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการดึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้จัดเดินทางท่องเที่ยว โดยกระทรวงได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปหารือกับเอกชนอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในวันธรรมดา
ก่อนหน้านี้นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ททท.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระตุ้นท่องเที่ยว ในช่วงวันธรรมดา เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทย ส่วนใหญ่จะเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดยาวเท่านั้น
ทำให้ไม่เกิดการกระจายตัวในการเดินทาง ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมที่ล่าช้า จนถึงปัจจุบันโรงแรมที่ตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก กลับมาเปิดให้บริการได้ยังไม่ถึง 50%
"ททท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการจัดทำโครงการใหม่ ที่จะสนับสนุนให้บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ จัดทริปนำพนักงานไปเที่ยว หรือจัดทริปซีเอสอาร์”
โดยรัฐบาลจะสนับสนุนมาตราการทางภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังจะไปพิจารณารายละเอียดในเรื่องนี้ ว่าจะมีมาตรการจูงใจทางภาษีอย่างไร โดยอยู่ระหว่างการหารือเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย ลดแวต (VAT) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านี้เดินทางเที่ยวในประเทศ
รวมไปถึงการสะสมพ้อยท์ โดยบริษัทใด ที่จัดทริปในประเทศมากที่สุด ก็จะได้รับประกาศนียบัตรจากนายกรัฐมนตรี ที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศ
ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลเปิดตัวโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อใช้เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนไทยเที่ยวไทย หวังกระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวในประเทศ 5 หมื่นล้านและสร้างรายรับในธุรกิจหมุนเวียน 1.23 แสนล้าน โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนค่าที่พัก 40% ต่อคืน (ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน) สูงสุดไม่เกิน 5 คืน พร้อมอี-เวาเชอร์ 600 บาทต่อคืน และรัฐบาลสนับสนุนจองตั๋วเครื่องบิน 40% สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน 1 ห้องพักจองตั๋วเครื่องบินได้ 2 ใบ
ที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนสนใจมาลงทะเบียน 4.88 ล้านคน แต่ใช้สิทธิการจองห้องพักในโครงการราว 5.6 แสนคืน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% มีโรงแรมที่มีการจอง 3,729 แห่ง และมีการเช็คอินไปแล้ว 1.72 แสนบุ๊กกิ้งมีการใช้อี-เวาเชอร์ 1.47 แสนรายเท่านั้น ส่วนยอดจองตั๋วเครื่องบินในโครงการมีเพียง 3,438 ใบเท่านั้น