การบินไทย ถก 3 แนวทาง หาเงิน 6-8 หมื่นล.ฟื้นฟูกิจการ

10 ก.ย. 2563 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2563 | 05:35 น.

"การบินไทย" ถก 3 แนวทางหาแหล่งเงิน 6-8 หมื่นล้านบาท รีสตาร์ทธุรกิจ ช่วงฟื้นฟูกิจการ จ่อทบทวนการลงทุนบริษัทลูก ถกหนัก "ไทยสมายล์" ยังไม่ได้ข้อสรุป เสียงแตกยุบ-ไม่ยุบ

       การบินไทย  หารือ  3 แนวทางหาแหล่งเงิน 6-8 หมื่นล้านบาท รีสตาร์ทธุรกิจ ช่วงบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งขอกู้เงิน ให้กระทรวงการคลังคํ้า-แปลงหนี้เป็นทุน-ลดทุนและเพิ่มทุน จ่อทบทวนการลงทุนบริษัทลูก ชี้บริษัทใดไม่ก่อให้เกิดรายได้หลักแก่บริษัทแม่ ควรเลิกกิจการหรือขายทิ้ง ถกหนักไทยสมายล์ยังไม่ได้ข้อสรุป เสียงแตกยุบ-ไม่ยุบ

         ในวันที่ 14 กันยายน2563 ศาลล้มละลายกลาง นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลการพิจารณาที่จะเกิดขึ้น การบินไทย จะได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากเจ้าหนี้รายใหญ่ รวม 137 ราย รวมถึงกระทรวงการคลัง มีหนังสือสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ และไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมมากกว่า 50% ของจำนวนหนี้ ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ซึ่งมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 332,199 ล้านบาท

การบินไทย ถก 3 แนวทาง หาเงิน 6-8 หมื่นล.ฟื้นฟูกิจการ

      ในช่วงที่ผ่านมา ทางทีมทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ได้หารือถึงกรอบในการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นไว้บ้างแล้ว และหลังจากวันที่ 14 กันยายนนี้ หากศาลสั่งให้การบินไทย เป็นผู้ทำแผนตั้งเป้าที่จะใช้เวลาราว 3-5 เดือน ในการจัดทำรายละเอียดของแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ ก่อนจะนำเสนอให้ศาลล้มละลายพิจารณาอีกครั้ง เพื่อขอให้การบินไทย บริหารแผนฟื้นฟูดังกล่าว

หาเงิน 6-8 หมื่นล้าน  

        ทั้งนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย มีการหารือเบื้องต้นถึงความต้องการเงินราว 6-8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมา
รีสตาร์ทธุรกิจ ทั้งการกลับมาเปิดทำการบินใหม่ในช่วง 5 ปีนี้ รวมถึงการชำระหนี้กับเจ้าหนี้การค้า และภาระหนี้บางส่วน แต่จะเป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะเป็นเท่าไหร่ ต้องรอให้แผนในการปฏิบัติการบิน ได้ข้อสรุปออกมาก่อน เพราะมีปัจจัยเรื่องของโควิด-19 มาเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งการบินไทย จะต้องลดจุดบินลง จากเดิมที่ก่อนโควิด ทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศอยู่ 63 จุดหมายปลายทาง (ไม่รวมไทยสมายล์) รวมถึงลดแบบเครื่องบินลง

       โดยที่มาของแหล่งเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องระหว่างการฟื้นฟูกิจการ มีการหารือใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การกู้เงินจากสถาบันการเงินจำนวนหนึ่ง 2.การแปลงหนี้เป็นทุน 3.การลดทุนและเพิ่มทุน

       เบื้องต้นทางการบินไทย อยู่ระหว่างเจรจากับหลายสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเตรียมสภาพคล่อง ในหลักหลายหมื่นล้านบาท ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก็มีราว 3 ธนาคารพร้อมจะให้การสนับสนุนเมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

       แหล่งข่าวระดับสูงจากสถาบันการเงิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพิจารณาอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการบันการเงินให้กับทางการบินไทย ก็คงเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ก่อน เพราะต้อคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดกับธนาคารด้วย

      อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูกิจการทั่วไปนั้น ในหลักการจะต้องลดทุนทุนจดทะเบียนให้เป็นศูนย์ก่อน จากนั้นจึงเป็นการเจรจาปรับลดหนี้กับเจ้าหนี้ให้คงเหลือในระดับที่บริษัทสามารถชำระหนี้ได้ เพราะถ้าลดลงไม่มากพอ คนที่จะใส่ทุนเข้ามาใหม่ก็จะไม่กล้าเพิ่มทุนเข้ามา ดังนั้นต้องหาจุดสมดุลระหว่าง เจ้าของทุนกับเจ้าหนี้ด้วย เพื่อให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้

ไทยสมายล์เสียงแตก  

     นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงการทิศทางการดำเนินธุรกิจบริษัทย่อยและบริษัทร่วมต่างๆของการบินไทย ว่าบริษัทใดไม่ก่อให้เกิดรายได้หลักแก่บริษัทแม่ ก็ควรจะต้องมีการทบทวน ว่าจะขายทิ้ง หรือเลิกกิจการไป โดยประเด็นที่ยังหารือกันไม่ตกผนึก คือ เรื่องของสายการบินไทยสมายล์ ที่การบินไทย ถือหุ้น 100% ซึ่งการหารือยังไม่ได้ข้อสรุป

การบินไทย ถก 3 แนวทาง หาเงิน 6-8 หมื่นล.ฟื้นฟูกิจการ

      เสียงหนึ่งมองว่าควรจะยุบ บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด หรือควบรวมไทยสมายล์กับการบินไทย เนื่องจากมองว่าเป็นภาระของการบินไทย เพราะนับตั้งแต่ไทยสมายล์เริ่มทำการบินตั้งแต่ เม.ย. 2557 ไทยสมายล์ ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง สะสมกว่า 8 พันล้านบาท อีกทั้งการขายทั้งหมดก็ดำเนินการโดยการบินไทยอยู่แล้ว โดยช่วงปี 2559 ถึงปัจจุบัน การบินไทยมีนโยบายซื้อตั๋วโดยสารของสายการบินไทยสมายล์ ในลักษณะ Block Seat ในสัดส่วน 90:10 ขณะที่ไทยสมายล์ทำหน้าที่เฉพาะการปฏิบัติการบินเท่านั้น

        จากนโยบายให้การบินไทยซื้อตั๋วไทยสมายล์แบบ Block Seat ที่ได้ดำเนินการเต็มรูปแบบในทุกสาย ทุกเที่ยวบิน ทำให้ในปี 2562 ไทยสมายล์ ขาดทุนอยู่ 112.5 ล้านบาท ลดลงอย่างมาก หากเทียบกับปี2561 ที่ขาดทุนอยู่ 2.6 พันล้านบาท และในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 การบินไทย ยังต้องตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนในไทยสมายล์ 1,800 ล้านบาท

      เนื่องจากประเมินผลประกอบการของไทยสมายล์ ซึ่งมีผลขาดทุนสะสมต่อเนื่องจนมีผลขาดทุนเกินทุน และผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และการบินไทยยังตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ คือ ไทยสมายล์ 6,018 ล้านบาท ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9

การบินไทย ถก 3 แนวทาง หาเงิน 6-8 หมื่นล.ฟื้นฟูกิจการ

      ขณะที่เสียงที่คัดค้านการยุบไทยสมายล์ หรือควบรวม ก็มองว่า ไทยสมายล์ จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูการบินไทยได้ แต่หากมีการกำหนดเส้นทางบินที่เหมาะสม ระหว่าง 2 สายการบิน โดยกำหนดเส้นทางการบินให้ไม่ทับซ้อนกันเอง กับ ไทยสมายล์ ที่อาจพิจารณาให้ไทยสมายล์ บริการในเส้นทางการบินในภูมิภาคที่มีพิสัยการบินไม่ไกล

      เพราะไทยสมายล์มีต้นทุนในการปฏิบัติการบินต่ำกว่า จึงสามารถแข่งขันกับสายการบิน อื่นๆในภูมิภาค และสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งมีตลาดใกล้เคียงกันได้ เพราะสามารถทำราคาค่าโดยสารได้ต่ำกว่าที่การบินไทยเป็นผู้ปฏิบัติการบินเอง ขณะที่การบินไทย จะให้บริการในเส้นทางบินพิสัยกลางถึงไกล ซึ่งผู้โดยสารต้องการความสะดวกสบายของที่นั่ง ห้องโดยสาร บริการภาคพื้นดิน และบริการบนเครื่องบินที่สะดวกสบายมากกว่า โดยมีจุดแข็งในการให้บริการที่ได้มาตรฐานโลก ในขณะที่คงวัฒนธรรมการให้บริการด้วยความเป็นไทย

      ประกอบกับที่ผ่านมาการขาดทุนของไทยสมายล์ จุดหลักก็มาจากนโยบายของการบินไทย โดยเฉพาะการสั่งให้ไทยสมายล์ ไปเปิดทำการบินต่างประเทศในจุดที่ไม่มีกำไร การเช่าเครื่องบินทั้ง 20 ลำ คนเช่าก็จะเป็นการบินไทย แล้วมาลงบัญชีไทยสมายล์ ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูง

      เพราะไทยสมายล์ไม่ได้เช่าเครื่องบินเอง รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องบิน การบินไทยก็ไปเจรจาให้หมด ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูงกว่าที่การบินไทยซ่อมเครื่องบินให้สายการบินลูกค้า และมีการซ่อมบำรุงบางส่วนกับบริษัทต่างชาติ ที่ไทยสมายล์ต้องจ่ายปีละกว่า 2 พันกว่าล้านบาททุกปี โดยที่ไทยสมายล์ ไม่ได้เป็นคนไปเจรจาแต่อย่างใด ทำให้การขาดทุนอยู่ในงบดุลของการบินไทย ในเรื่องรายการค่าเช่าเครื่องและอะไหล่ของบริษัทแทน มีตัวเลขถึง 5,357 ล้านบาท

      ดังนั้นหากไม่ยุบไทยสมายล์ แต่เข้าไปแก้ปัญหาทั้งหมด แล้วทำการปฏิบัติการบินในลักษณะทำแบรนด์ร่วมกัน ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี รวมถึงการให้การบินไทยเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี และให้บริษัทไทยสมายล์ ปฏิบัติการบิน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อยู่ระหว่างการหารืออยู่เช่นกัน
       สำหรับบริษัทในเครือของการบินไทย อาทิ บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด ถือหุ้น 55%  ปี 61 กำไร 124 ล้านบาท  ปี 62  กำไรอยู่ที่ 57.4 ล้านบาท บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ถือหุ้น 49% ปี 61 ขาดทุน 97 ล้านบาท ปี62 กำไร 5.6 ล้านบาท บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ถือหุ้น 49%  ปี61 กำไร 14.3 ล้านบาท ปี62 กำไร 13.6 ล้านบาท บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด (ถือหุ้นโดยบ.วิงสแปนซึ่งเป็นบ.ย่อย) 49% ปี61 กำไร 4.59 แสนบาท ปี62 กำไร 8.83 แสนบาท บริษัท ดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พร์ต โฮเต็ล จำกัด ถือหุ้น 40%  ปี 61 กำไร 65.9 ล้านาท ปี62 กำไร 31.9 ล้านบาท  
         บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบิน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 22.59% ปี 61 กำไร 940 ล้านบาท ปี62 กำไร 1.23 พันล้านบาท  บริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด ถือหุ้น 30%   ปี61 กำไร 62 ล้านบาท ปี62 กำไร 33 ล้านบาท บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด ถือหุ้น 30%  ปี61  กำไร 134 ล้านบาท ปี62 กำไร122 ล้านบาท บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 13.28% ปี61 ขาดทุน 2.4 พันล้านบาท ปี62 ขาดทุน 1.71 พันล้านบาท


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย เปิดบริการ Royal Orchid Dining อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้
การบินไทย โยกย้ายพนักงานบิ๊กล็อต 14 ตำแหน่งรวด
การบินไทย ลดเอาต์ซอร์ซ เลิกจ้างวิงสแปน 2.6 พันคน
"การบินไทย" เปิดเที่ยวบินพิเศษ 7 เส้นทางบินสู่ยุโรป-เอเชีย ก.ย.นี้
“ถาวร” เปิดผลสอบ แกะปม “การบินไทย” ทำไมเจ๊ง
เปิด 5 แนวทาง ร่างแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’

ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3608 วันที่ 10-12 กันยายน 2563