เปิดหนังสือนักบิน“นกแอร์” ร้อง “บิ๊กตู่” ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชย

14 ก.ย. 2563 | 10:00 น.

เปิดหนังสืออดีตนักบินร้อง”บิ๊กตู่” ขอความเป็นธรรม กรณีถูก บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เลิกจ้างก่อนสถานการณ์โควิด แต่ไม่ได้รับค่าชดเชย ตามกฎหมาย

         ในวันนี้ (14 กันยายน 2563) ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มอดีต นักบิน ของ สายการบินนกแอร์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กรณีถูกบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เลิกจ้างก่อนเกิดสถานการณ์ โควิด-19 แพร่ระบาด แต่ไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับนักบินตามกฎหมาย โดยมี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าว

เปิดหนังสือนักบิน“นกแอร์” ร้อง “บิ๊กตู่” ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชย
         โดยในหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ที่ส่งถึง  นายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดดังนี้ เรื่อง :  ขอความเป็นธรรม กรณีถูก บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เลิกจ้าง ก่อนสถานการณ์โควิด แต่ ไม่ได้รับค่าชดเชย ตามกฎหมาย
         ข้าพเจ้า นายมนต์สรรพ์ หาญวงศ์ กับพวกอีก 10 คนประกอบด้วย  1. นายอธิเชษฐ์ พันธุ์รักษ์ 2. นายลภัสพงษ์ รัตนสุรการย์  3. นายกษม ปัทมติลก 4. นายณต แผ้วพิษากุล 5. นายศิวัช เขี้ยวแก้ว 6. นางสาวปาริชาต ตัณฑเกษม 7. นายเพชร เพ็ชรเงาวิไล 8. นายโสภณัฐ สาริมาน 9. นายธนพงษ์ พูนประชา และ10. นายธนวัชร์ ภัยลี้
      เคยทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท ในตำแหน่งนักบิน โดยมีหน้าที่ควบคุมอากาศยาน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบิน ตามตารางบินที่บริษัทกำหนดและบริษัทจะต้องกำหนดตารางบินให้แก่ข้าฯ กับพวกเพื่อให้ข้าฯ กับพวกปฏิบัติงานบนเครื่องบินโดยตารางการบินจะออกทุกวันที่ 25 ของเดือน และข้าฯ กับพวกจะได้รับคำตอบแทนซึ่งได้รับเป็นประจำทุกเดือนในอัตราที่เท่ากัน แยกเป็นเงินเดือนในอัตราเดือนละ 200,000.00 บาทเงินประจําตำแหน่งในอัตราเดือนละ 35,000.00 บาท เงินค่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษในอัตราเดือนละ 5,000.00 บาท
        นอกจากนี้ข้าฯกับพวกจะได้รับค่าตอบแทนคำนวณตามผลงาน คือค่าชั่วโมงบินในอัตรา 6,950.00 บาทต่อระยะทาง 1,000 ไมล์ และจะได้รับค่าเดินทางในวันที่ต้องเดินทางมาปฏิบัติงานบนเครื่องบินในอัตราวันละ 1,000.00 บาท นอกจากนี้บริษัท ยังตกลงอีกว่าหากข้าฯกับพวกปฏิบัติงานในตำแหน่งนักบินเป็นช่วงอายุงานเกินกว่า 3 ปี ถึง 6 ปี จะได้รับเงินประจำต่ำแหน่งจากเดิมในอัตราเดือนละ 35,000.00 บาท เพิ่ม​เป็นในอัตราเดือนละ 40,000.00 บาท และกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 15 วัน ซึ่งเป็นไปตามสัญญาว่าจ้าง ,สรุปเรื่องการปรับค่าจ้างค่าตอบแทนนักบิน 2016 ข้อบังคับการทำงาน

        เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัทได้เสนอให้ข้าฯกับพวกปรับลดเงินประจําตำแหน่งทั้งหมดจำนวน 35,000.00 บาท และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 บริษัทได้เสนอให้ข้าฯกับพวกปรับเงินเดือนอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนจำนวน 200,000.00 บาท คงเหลือจำนวน 160,000.00 บาท หากข้าฯ กับพวกยินยอมก็จะยังคงความเป็นพนักงานของบริษัทต่อไป และหากข้าฯกับพวกไม่ยินยอมก็จะต้องถูกเลิกจ้าง ข้าฯกับพวกต้องการที่จะทำงานกับบริษัทต่อไป จึงตัดสินใจยินยอมลดเงินดังกล่าว

        ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 บริษัทแจ้งให้ข้าฯกับพวกสมัครใจหยุดงานโดยไม่ขอรับเงินเดือนเป็นเวลา 7 เดือนกับอีก 14 วันโดยให้หยุดถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวบริษัทได้ยื่นข้อเสนอข้าฯกับพวกรวมทั้งพนักงานตำแหน่งผู้ช่วยนักบินและนักบินอีกรวมจำนวน 23 คนโดยมิได้แจ้งผู้ช่วยนักบินและนักบินอื่นของบริษัทซึ่งมีจำนวน 227 คน อันเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรม

       ยิ่งไปกว่านั้นการที่ข้าฯกับพวกต้องหยุดงานเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 6 เดือน จะทำให้ใบอนุญาตนักบินประจำเครื่องบินของข้าฯกับพวกจะต้องหมดอายุ หากข้าฯ กับพวกจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมใหม่ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการฝึกอบรมจำนวนพลายแสนบาทต่อคน ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบการสายการบินพึงกระทำ เพราะหากบริษัทประสงค์จะให้ข้าฯ กับพวกยังคงเป็นพนักงานต่อไปย่อมที่จะต้องให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ สลับกันไปเพื่อให้ไม่อนุญาตไม่หมดอายุ

      การกระทำของบริษัทนั้นย่อมเล็งเห็นได้ว่า บริษัทไม่ประสงค์จะให้ข้าฯกับพวกทำงานต่อไปและในที่สุดก็จะเลิกจ้างข้าฯ กับพวกหลังจากครบกำหนดหยุดงาน โดยไม่รับเงินเดือนในที่สุดและนั่นย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าบริษัทไม่ประสงค์จะให้ข้าฯกับพวกทำงานต่อในขณะที่เสนอให้ข้ากับพวกยอมปรับลดค่าตอบแทนและเงินเดือนหาก แต่บริษัทกลับใช้อุบายหลอกลวงข้าฯกับพวกตั้งแต่ต้นว่าหากข้าพกับพวกยินยอมลดเงินประจำตำแหน่งและยอมลดเงินเดือน บริษัทจะให้ข้าฯกับพวกยังคงเป็นพนักงานและปฏิบัติหน้าที่นักบินหรือผู้ช่วยนักบินต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้วบริษัทหาได้มีเจตนาที่จะว่าจ้างบ้านกับพวกต่อไปไม่

เปิดหนังสือนักบิน“นกแอร์” ร้อง “บิ๊กตู่” ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชย

         การกระทําของบริษัทเป็นการใช้กลฉ้อฉล หลอกลวง ข้าฯกับพวกให้หลงเชื่อว่าเมื่อข้าพกับพวกยอมปรับลดค่าตอบแทนและเงินเดือนข้ากับพวกจะยังคงมีสภาพเป็นพนักงานบริษัทต่อไป แต่แท้จริงแล้วบริษัทต้องการที่จะให้ค่าตอบแทนและเงินเดือนของข้าฯกับพวกลดลงเพื่อหวังจะได้จ่ายค่าชดเชยน้อยลงเมื่อเลิกจ้างข้าฯ กับพวก

 

 

         การที่บริษัทใช้กลฉ้อฉล หลอกลวง ทำให้ข้ากับพวกหลงเชื่อแสดงเจตนายินยอม ปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทนดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือว่าข้อตกลงการปรับลดเงินประจำตำแหน่งทั้งหมดจำนวน 35,000.00 บาทและปรับลดเงินเดือนอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนจำนวน 200,000.00 บาท คงเหลือจำนวน 160,000.00 บาท เป็นโมฆียกรรม และข้าฯกับพวกขอใช้คำฟ้องนี้เป็นการแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียกรรมดังกล่าวโดยถือว่าข้อตกลงดังกล่าวสิ้นผลตั้งแต่ต้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวสิ้นผลข้าฯกับพวกจึงมีสิทธิที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 35,000 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมีสิทธิได้รับเงินเดือนละ 200,000.00 บาท
        เมื่อข้าฯกับพวกไม่สมัครใจที่จะหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนตามที่บริษัทเสนอดังกล่าวข้างต้น วันที่ 18 มีนาคม 2553 ข้าฯกับพวกเดินทางไปพบฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อนัดพูดคุยเรื่องการหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน ปรากฏว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท ไม่ได้พูดคุยเรื่องการหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน และมีเพียงหนังสือเลิกจ้างข้าฯกับพวกซึ่งลงวันที่ 17 มีนาคม 2553 โดยการเลิกจ้างให้มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2563

      ภายหลังบริษัทออกหนังสือเลิกจ้างข้าฯกับพวก สัญญาจ้างแรงงานระหว่างข้าฯกับพวกกับบริษัทยังคงมีผลผูกพันไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งบริษัทในฐานะนายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อข้าฯกับพวกในฐานะลูกข้างให้ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 14 แต่บริษัทปฏิบัติผิดข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงาน และออกคำสั่งที่ทำให้บริษัทในฐานะนายจ้างได้เปรียบข้าฯกับพวกในฐานะลูกจ้าง
         โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้ข้าฯกับพวกในฐานะลูกจ้างไม่มีสิทธิได้ชดเชยในส่วนของค่า “ค่าตอบแทนนักบิน (ค่าชั่วโมงบิน) อันเป็นค่าจ้างคำนวณตามผลงาน กล่าวคือ บริษัทได้ยกเลิกตารางบินของข้าฯกับพวกตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 และไม่กำหนดตารางบินให้แก่ข้าฯ กับพวกในเมษายน 2553 ทั้งที่ข้าฯกับพวกประกอบกิจการและยังมีเส้นทางการบินปกติ
         ในขณะที่พนักงานในตำแหน่งนักบินอื่นยังคงมีตารางบินปกติซึ่งเมื่อบริษัทยกเลิกและไม่กำหนดตารางบินให้แก่ข้าฯกับพวก ทำให้ข้ากับพวกต้องขาดรายได้ในส่วนของตอแทนนักบิน (ค่าชั่วโมงบิน) อันเป็นค่าจ้างคำนวณตามผลงานของเดือน มีนาคม 2563 และ เดือนเมษายน 2563 และทำให้เงินเดือนในเดือนสุดท้าย (เดือนเมษายน 2553) ไม่มีค่าจ้างในส่วนของค่าตอบแทนการบิน (ค่าชั่วโมงบิน) อันเป็นค่าจ้างคำนวณตามผลงานทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ข้าพกับพวกน้อยลงอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยมุ่งหวังให้ข้าฯกับพวกในฐานะลูกจ้างเสียเปรียบและทำให้ข้ากับพวกในฐานะลูกจ้างไม่ได้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118
        ภายหลังเมื่อบริษัทฯเลิกจ้างข้าฯกับพวกปรากฏบริษัทฯไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ต่อมาข้าฯกับพวกจึงมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง และศาลอาญากรุงเทพใต้
       ปัจจุบันคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ข้าฯกับพวก(บางส่วน) ได้เจรจาประนีประนอมยอมความกับบริษัทฯและศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว   และภายหลังเมื่อศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ บริษัทฯก็มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแต่อย่างใด
        ข้าพกับพวกไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับเอากับบริษัทได้อีก จึงขอความเป็นธรรมมายังพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อข้าพเจ้าฯกับพวกต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พิษไวรัส นกแอร์-นกสกู๊ต เลิกจ้างนักบิน
‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่ ​​​​​​​
นกแอร์ ยันยังบินปกติ แจง 5 ประเด็น ยื่น ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง​​​​​​​