‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ครบ 50 วัน เม็ดเงินสะพัด 3 พันล้าน

29 ก.ย. 2563 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2563 | 10:35 น.

อัปเดต 50 วันโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวแล้วร่วม 3 พันล้านบาท แม้ยอดการจองที่พักจะอยู่ในสัดส่วนเพียง 17% ททท.หารือ 8 ข้อเสนอปรับเงื่อนไข กระตุ้นการใช้สิทธิ ดึงกำลังซื้อเที่ยวในประเทศปีนี้ แตะ 4.8 แสนล้านบาท

            “เราเที่ยวด้วยกัน” มาตรการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล ซึ่งรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 40% ประชาชนออกค่าใช้จ่ายเอง 60% นับจากวันที่เปิดให้จองใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.-5 ก.ย. 2563 พบว่าโครงการนี้สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว 2,935.9 ล้านบาท                                 

            โดยโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ณ วันที่ 5 ก.ย.63 มีประชาชนเข้ามาลงทะเบียน รวม 5.05 ล้านคน ลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 4.79 ล้านคน ยังไม่สำเร็จ 2.5 แสนคน ขณะที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรวม 71,533 ราย แบ่งเป็น ร้านอาหาร 61,536 ราย โรงแรมและที่พัก 7,130 ราย สถานที่ท่องเที่ยว 1,706 ราย โอท็อป 1,161 ราย

            ทั้งนี้ตลอด 50 วันที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนจอง โรงแรมและที่พัก แล้วกว่า 851,321 คืน จาก 5 ล้านคืน คิดเป็น 17% ซึ่งอาจจะดูน้อย แต่ในแง่ของการสร้างเม็ดเงินก็ถือว่าโครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ผ่านมามีการกระจายลงสู่ธุรกิจท่องเที่ยวรวมแล้วกว่า 2,935.9 ล้านบาท ผ่านการจองห้องพัก 2,524.3 ล้านบาท อี-วอลเชอร์ (คูปอง) 388 ล้านบาท จาก อี-วอลเชอร์ ประชาชนได้รับไปแล้ว 262,817 ราย และการจองตั๋วเครื่องบิน 23.6 ล้านบาท จากจำนวนตั๋วเครื่องบินที่ได้รับสิทธิ 8,703 ใบ

‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ครบ 50 วัน  เม็ดเงินสะพัด 3 พันล้าน

            รวมแล้วเม็ดเงินที่เกิดขึ้น จะเกิดจากการใช้จ่ายของ ที่โดยเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายเอง 1,827.9 ล้านบาท และส่วนที่รัฐบาลจ่ายให้ 1,108 ล้านบาท เฉลี่ยต่อวันมีการเข้าพักราว 17,026 คืน ซึ่งมีการจองผ่านโรงแรมโดยตรง 4,014 แห่ง ทั้งๆที่โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักต่างๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย พัทยา ปัจจุบันยังกลับมาเปิดให้บริการไม่ถึง 50%

            นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน แม้ยอดการจองใช้สิทธิอาจจะอยู่เพียง 17% แต่ในช่วง 50 วันที่ผ่านมา ก็สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าช่วยพยุงการจ้างได้ในระดับหนึ่ง ในสภาวการณ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป เราพยายามกระตุ้นกำลังซื้อเต็มที่ เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้สิทธิ ซึ่งโครงการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

ยุทธศักดิ์ สุภสร

           จากในรอบ 50 วันที่ผ่านมา ชัดเจนว่าการใช้สิทธิของประชาชน ที่พักจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,944 บาทต่อคืน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่เราคาดไว้อยู่ที่ 3,500 บาทต่อคืน เพราะจะมีส่วนน้อยเท่านั้น ที่หากจะใช้สิทธิสูงสุดของโครงการ ต้องจ่ายค่าที่พัก 7,500บาทต่อคืน ดังนั้นก็จะมีงบในโครงการนี้เหลืออยู่ (รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่าย 40% สูงสุดแต่ไม่เกิน 3 พันบาทต่อคืน)

           โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ย.63 จึงได้เพิ่มวงเงินอี-วอลเชอร์ จากเดิม 600 บาทต่อวัน เป็น วันธรรมดา เพิ่มเป็น 900 บาทต่อวัน ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์ คงไว้ที่ 600 บาทต่อวัน เพิ่มสิทธิให้จองได้สูงสุด 10 คืนต่อคน จากเดิม 5 คืนต่อคน และเพิ่มสิทธิเงินคืนค่า ตั๋วเครื่องบิน เป็น 2 พันบาทต่อที่นั่ง จากเดิม 1 พันบาทต่อที่นั่ง

            รวมไปถึงเมื่อวันที่ 15 ก.ย.63 ครม.ได้เห็นชอบให้ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ลาพักร้อนเพิ่มได้อีก 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดา ช่วงก.ค.-ต.ค.63

            นอกจากนี้ททท.ยังมองถึงปรับเพิ่มเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้สิทธิ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาใน 8 เรื่อง ได้แก่
           1. เจาะกลุ่มเป้าหมาย ปรับเปลี่ยนวิธีการให้ง่ายและเหมาะสม เช่น ผู้สูงวัย ที่เราอยากจะกระตุ้นให้เดินทางเที่ยววันธรรมดา ซึ่งกลุ่มนี้การใช้แอพพลิเคชันคงไม่สะดวก ก็อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารกรุงไทย ว่าจะใช้ Line สำหรับกลุ่มนี้ได้ด้วยหรือไม่
           2. เพิ่มการใช้จ่าย
           3.ลดต้นทุน เช่น ลดราคาห้องพักเพิ่มขึ้น ในวันธรรมดา ส่วนตั๋วเครื่องบิน จากการที่จะให้ลูกค้าจ่ายค่าตั๋วไปก่อน แล้วมาขอคืนทีหลัง ซึ่งก็ไม่จูงใจ ก็หารือกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทำเหมือนห้องพัก ที่คนใช้สิทธิจ่าย 60% ไปเลย ซึ่งที่ผ่านมา คนจองตั๋วเครื่องบินยังไม่มาก สะท้อนว่าคนไทยยังเดินทางระยะใกล้เป็นหลักอยู่ และสายการบินยังกลับมาบินได้ด้วยความถี่ 70% แต่ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะกลับมาบินได้ในความถี่เท่าเดิม ก่อนเกิดโควิด-19
            4. การพิจารณาให้ใช้สิทธิภายในภูมิลำเนาตัวเองได้ด้วย เพราะโรงแรมในกรุงเทพฯ ก็มีข้อเสนอที่อยากจะคนกรุงเทพฯสามารถใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันได้ด้วยเช่นกัน
           5.การลดเวลาการจองที่พักล่วงหน้าจาก 3 วันเป็น 1 วัน
           6. เพิ่มเวลาการจอง จากเดิมให้จองเวลา 06.00-21.00 น. ไปเป็นเวลา 06.00-24.00 น.
           7. การขยายให้ธุรกิจสปา ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเข้าร่วมลงทะเบียน “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้
           8.การพิจารณาให้บริษัทเอกชน รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถใช้สิทธิเราเที่ยวกัน ที่จะมีการเพิ่มช่องลงทะเบียนขึ้นมาอีก 1 ช่อง สำหรับให้โรงแรมเสนอขายที่พักในแบบ 200 ห้อง เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ ซื้อห้องพัก เพื่อไปแจกลูกค้าหรือสวัสดิการสำหรับพนักงานได้

            สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการเดินทาง 28.3 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 2.02 แสนล้านบาท คาดว่าภายในปี63 จะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเที่ยวในประเทศได้ 70 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 4.18 แสนล้านบาท

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,612 วันที่ 24 -26 กันยายน พ.ศ. 2563

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เราเที่ยวด้วยกัน จ่ายต่ำ 1 พันบาท ก็พัก เครือ“ดุสิตธานี”ได้
ย้ำ 3 หลักเกณฑ์ใหม่กระตุ้น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’

‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เข็นไม่ขึ้น แก้เกมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่