วอนรัฐชะลอขึ้นภาษีบุหรี่ หวั่นกระทบหนัก

13 ต.ค. 2563 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2563 | 12:55 น.

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบ ขอ สรรพสามิต ชะลอขึ้นภาษีบุหรี่ หลังได้รับผลกระทบหนัก 

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ เลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่จากเดิมจะปรับขึ้นจาก 20% เป็น 40% จากวันที่ 1 ต.ค. 2563 ไปอีก 1 ปี เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2564 เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบด้วยนั้น 

 

โดยนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่ ว่ามีรูปแบบภาษีอย่างไร และควรจะปรับขึ้นเมื่อไร ซึ่งขณะนี้จะต้องให้ความสำคัญในการจัดเก็บรายได้ที่ไม่กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และคำนึงถึงเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมก่อน การปรับอัตราภาษีใดๆ 

 

 

รายงานข่าวจากอุตสาหกรรมยาสูบ ระบุว่า ในการดำเนินนโยบายภาษียาสูบตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของกรมสรรพสามิต ได้มีผู้ที่เกี่ยวข้องคัดค้านการปรับขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 40% อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ ทั้งเกษตรกร และการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) รวมถึงผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายรวมของตลาดบุหรี่ปรับตัวลดลง 12% จากเดิมที่จำหน่ายได้ 36,436 ล้านมวน ในปี 2560 เหลือ 32,047 ล้านมวน ในปี 2562

 

ขณะที่ยอดขายของ ยสท. ปรับตัวลดลงจาก 28,800 ล้านมวน ในปี 2560 เป็น 18,600 ล้านมวน ในปี 2562 และมีส่วนแบ่งตลาดของ ยสท. ลดลงจาก 79% เหลือ 60% เนื่องจากผู้บริโภคหันไปบริโภคบุหรี่หนีภาษีและเปลี่ยนไปสูบยาเส้นมวนเองกันมากขึ้น ส่งผลให้ ยสท. มีผลประกอบการลดลงกว่า 90% และมีผลให้ ยสท. ไม่มีเงินนำส่งรัฐเหมือนเมื่อก่อนช่วงปี 2560 

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาภาพรวมของอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิตควรชะลอการปรับขึ้นภาษียาสูบในช่วงที่กำลังซื้อยังได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปอย่างน้อย 1-2 ปี และควรกำหนดอัตราภาษีที่ไม่สูงจนกระทบต่อผู้ประกอบการทั้ง ยสท. และผู้นำเข้าบุหรี่ด้วย 

 

“การค่อย ๆ ปรับขึ้นภาษีให้เหมาะสมกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบและชาวไร่ยาสูบได้ และช่วยให้อุตสาหกรรมยาสูบอยู่ได้อย่างยั่งยืน เหมือนก่อนปี 2560 ที่นโยบายการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไม่ได้กำหนดให้ต้องเพิ่มราคาบุหรี่แบบก้าวกระโดด และช่วยสร้างรายได้รัฐให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และไม่เป็นการกระตุ้นให้คนสูบบุหรี่หันไปหาสินค้าทดแทนกันมากขึ้น”