นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจดูแลสุขภาพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้นและเป็นโอกาสของไทยซึ่งมีวัตถุดิบจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งบริษัท บริษัท ไทยเมดิคอล โกล์ฟ จำกัด (Thai Medical Glove) ขึ้นเพื่อผลิตและส่งออกถุงมือยางรองรับความต้องการของตลาดโลกที่มีความต้องการถุงมือยางอยู่ที่ 4,000 ล้านกล่องต่อปี แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตทั่วโลกมีเพียง 1,800 ล้านกล่อง ซึ่งยังเหลือช่องว่างทางการตลาดอยู่อีกมาก
อีกทั้งยังเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราไทย ภายใต้การกำกับดูแลของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางดิบของไทย 2. เพิ่มราคายางดิบ โดยรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาด 15-20% เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร 3.พัฒนาเครื่องจักรในการผลิตแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ 4. ดึงสหกรณ์ที่มีศักยภาพเข้าร่วมพัฒนายางพาราและต่อยอดรายได้ ซึ่งหากดำเนินการได้จะทำให้ราคายางพาราในประเทศสูงขึ้น
โดยบริษัทคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาทในการดำเนินการ โดยเฟสแรกจะใช้งบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ประกอบไปด้วย 150 ไลน์การผลิตในโรงงานทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 1.โรงงานในย่าน ถ.บางนา-ตราด กม. 26 พื้นที่ 20 ไร่ ประกอบด้วย 10 ไลน์การผลิต 2.โรงงานย่าน ถ.บางนา-ตราด กม.46 พื้นที่ 82 ไร่ มี 50 ไลน์การผลิต 3.โรงงานใน จ.ชลบุรี พื้นที่ 20ไร่ มี 10 ไลน์การผลิต
และ 4.โรงงานใน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง พื้นที่ 20 ไร่ มี 80 ไลน์การผลิต เริ่มเดินเครื่องการผลิตในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีกำลังการผลิตราว 300 ล้านกล่อง เป็นการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ 100% ทั้งที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย ฯลฯ ในรูปแบบ B2B เช่น วอลมาร์ท, เจซีเพนนี เป็นต้น
นอกจากนี้บริษัทจะใช้งบลงทุนอีก 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับลงทุนในเฟส 2 ในกลางปี 2564 โดยจะเพิ่มไล์การผลิตอีก 150 ไลน์การผลิต ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีไลน์การผลิตรวมทั้งหมด 300 ไลน์การผลิต และมีกำลังการผลิตรวม 600 ล้านกล่อง ส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 15% ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ความนิยมถุงมือยางลดน้อยลง ก็พร้อมปรับไลน์การผลิตไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์เพื่อการผ่าตัด ซึ่งมีราคาแพงและยังเป็นที่ต้องการอยู่แทน
อย่างไรก็ดี ถุงมือยางเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง ขณะที่ราคาถุงมือยางในตลาดโลก พบว่า มาเลเซีย จำหน่ายในราคา 250-280 บาทต่อกล่อง ขณะที่แบรนด์ไทย มีราคา 350 บาทต่อกล่อง จึงเป็นโอกาสของบริษัท หากจะจำหน่ายในราคา 150-200 บาท มีกำไรไม่มากแค่ 50 บาทต่อกล่องก็เพียงพอ”
นายแพทย์บุญ กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายในสิ้นปี 2564 คาดว่าจะมีรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีนับจากนี้หากทิศทางการทำตลาดชัดเจนมากขึ้นก็มีแผนดันให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ THG ต่อไปอย่างไรก็ตามปัจจุบันในตลาดถุงมือยางทั่วโลกซึ่งมีปริมาณรวม 4,000 ล้านกล่อง มีมาเลเซียผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 65%
ไทย 13% (มีบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาด 9%) ซึ่งการรุกตลาดครั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งตลาด 12% ภายในสิ้นปี 2564 และทำให้ประเทศ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ในตลาดถุงมือยางโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง