วันนี้(วันที่ 27 ตุลาคม2563) ศาลล้มละลายกลาง ได้นัดไต่สวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด(มหาชน) ศาลฯมีมติ งดไต่สวน "นกแอร์" ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เหตุจากไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบิน นกแอร์ จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในวันนี้ศาลล้มละลายกลาง มีมติงดไต่สวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ เนื่องจากไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านนกแอร์ขอทำแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นไปตามมาตรา90/10 วรรค2
ทั้งนี้ศาลล้มละลายกลาง จะนัดพิพากษาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้
โดยสิ้นสุดงบประมาณช่วงไตรมาสแรกปี2563นกแอร์มีหนี้สิน 25,500 ล้านบาท จากจำนวนเจ้าหนี้ 400-500ราย เจ้าหนี้รายใหญ่หลักๆจะเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินในต่างประเทศกว่า 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน รวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืม ร่วม 3 พันล้านบาท คือ “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็สนับสนุนสายการบินฟื้นฟูกิจการเช่นกันส่วนสินทรัพย์อยู่ที่ 22,700ล้านบาท
สำหรับกรอบการฟื้นฟูกิจการ จะเน้น 3 ช่องทางโฟกัสปรับโครงสร้างหนี้-หาผู้ร่วมทุน ปรับปรุงเครือข่ายรู้ทบินขยายบินระยะกลางโมเดลเหมือนนกสกู๊ตเดิม ขยายช่องทางขายผ่านบริษัท ที่กลุ่มจุฬางกูร ถือหุ้นใหญ่อยู่ ยันไม่มีแผนปรับลดพนักงาน มีแต่จะเพิ่มลูกเรือและนักบิน รองรับการเพิ่มเครื่องบิน
ทั้งนี้ในวันที่4พฤศจิกายน2563 หากศาลพิพาษาให้นกแอร์ ทำแผนฟื้นฟูกิจการ นกแอร์ได้เสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบไปด้วย บริษัทแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา ,นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล,นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน เพื่อจัดทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงจะเสนอศาล เพื่อขออนุมัติและบริหารแผนฟื้นฟูต่อไป
สำหรับกรอบการฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ ที่นำเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในวันนัดไต่สวนในวันนี้จะมี 3 ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ได้แก่
1. การปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุน เช่น การจัดสรรแหล่งเงินเพิ่มเติม การหาพันธมิตรธุรกิจหรือเพิ่มทุน วางแผนระยะยาว ในการหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ และชำระหนี้
2. การบริหารจัดการกิจการของนกแอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน ปรับฝูงบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพิ่มความถี่ในเที่ยวบินที่มีดีมานต์ในการเดินทางและลดความถี่ในเที่ยวบินที่มีความต้องการในการเดินทางไม่มาก การเพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำ
รวมถึงการปรับปรุงกลยุทธด้านการพาณิชย์ เช่น การหารายได้ในช่องทางใหม่ๆเพิ่มขึ้น อย่างการสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้า(คาร์โก้)ในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น การหารายได้ในรูปแบบใหม่ร่วมกับพันธมิตร โดยการทำ Commission Base Service ในลักษณะการขายตั๋วเครื่องบินรวมกับโรงแรมหรือรถเช่า การเพิ่มโอกาสในการขายบัตรโดยสาร โดยปรับปรุงแอพพลิเคชั่นในการจองให้ตอบโจทย์ลูกค้า เพราะลูกค้าบางรายก็อาจจะใช้มือถือในการจองตั๋วไม่เป็น การปรับปรุงระบบปัญญาประดิษฐ์(AI)โดยใช้บิ๊กดาต้าในการทำตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้
การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายตั๋วโดยสาร การจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายต่างๆ ผ่านบริษัทต่างๆที่กลุ่มจุฬางกูร ถือหุ้นใหญ่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือซีเอ็ด ที่มีอยู่ 350 สาขา บริษัทซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน)หรือASAP ซึ่งเป็นธุรกิจรถเช่า ธุรกิจในเครือซัมมิท อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม สนามกอล์ฟก็จะขยายให้สามารถจำหน่ายตั๋วเครื่องบินนกแอร์ให้มากขึ้น บริษัท
บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็หารือถึงการจัดกิจกรรมรร่วมกับดารา เพื่อผลักดันยอดขายตั๋ว 3.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ซึ่งนกแอร์จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานเป็นหลัก นำระบบไอทีมาใช้เพื่อลดขั้นตอนลดต้นทุน เช่น การลดการใช้กระดาษให้น้อยลง การควบคุมรายได้-ค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด การปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการนกแอร์จะไม่มีการลดพนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,517 คน แต่มีแผนจะเพิ่มจำนวนนักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากนกแอร์มีแผนจะนำเครื่องบินเข้ามาดำเนินธุรกิจเพิ่ม จากปัจจุบันมีเครื่องบินให้บริการอยู่ 27 ลำ เป็นการให้บริการในไทย 27 ลำ และให้เช่าในต่างประเทศอีก 3 ลำ
เพราะนกแอร์ มีแผนจะขยายเส้นทางบินไปยังจุดบินจากให้บริการเที่ยวบินระยะใกล้ในต่างประเทศ ขยายเพิ่มไปสู่เที่ยวบินระยะกลาง เพื่อให้บริการเที่ยวบินไปญี่ปุ่น เหมือนที่สายการบินนกสกู๊ต ที่นกแอร์เคยเข้าไปร่วมลงทุนก่อนหน้านี้ เคยทำการบินอยู่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลังจากมีวัคซีนเกิดขึ้น
นอกจากนี้นกแอร์ จะมีความร่วมมือกับการบินไทยด้วย โดยการซ่อมบำรุงเครื่องบิน จากเดิมที่นกแอร์ จะต้องไปที่ต่างประเทศ ต่อไปก็จะใช้บริการของการบินไทย และหารือร่วมกับการบินไทยและไทยสมายล์ ในการวางตารางเที่ยวบิน ไม่ให้ทับซ้อนกัน เพื่อไม่แข่งขันกันเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นกแอร์ ฉลุยทำแผนฟื้นฟู เจ้าหนี้หนุนเกิน50% ศาลฯไต่สวน27ต.ค.นี้
ศาลล้มละลายกลาง รับฟื้นฟู นกเเอร์ ติดหนี้ 2.6หมื่นล้านบาท
‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่
นกแอร์ ยันยังบินปกติ แจง 5 ประเด็น ยื่น ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง