นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีมติค้านการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ในขณะนี้ได้เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจาณาแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และตนเป็นรองประธานฯ เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อได้คณะกรรมการแล้ว จะมาหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และสภาพัฒน์ เพื่อแสดงถึงเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (เทอมินัล 2)
“ตามความจริงแล้ว ผมต้องการให้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก-ตะวันตก (East-West Expansion) และฝั่งด้านเหนือ-ตะวันตก (North-West Expansion) เนื่องจากงบประมาณก็มีแล้ว แต่สิ่งที่เราฟัง เพราะไม่ให้เกิดปัญหาในการลดขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร เพราะถ้าดำเนินการฝั่งตะวันออก-ตะวันตกก่อน ก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะถ้าทำ อาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือทำให้มีผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี เพราะต้องทำทั้งหมด เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี”
ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความสำคัญ จึงจำเป็นต้องดำเนินการขยายทางวิ่ง (รันเวย์) และก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) เนื่องจากหากขยายรันเวย์เส้นที่ 3 แล้วไม่ดำเนินการขยายอาคารผู้โดยสาร ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (แซทเทิลไรท์) จะทำให้ขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารไม่ได้ตามที่ควรจะได้ ซึ่งหากต้องการรองรับได้เต็มขีดความสามารถต้องดำเนินการทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุกส่วนตัว (ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte) เปิด จม.สภาพัฒน์ ฉบับที่ 2 ค้าน! เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ แต่ ทอท.เมิน จะเดินหน้าสร้างให้ได้ โดยมีใจความสำคัญว่า หลังจากสภาพัฒน์ มีมติค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ หรือส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือในสนามบินสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต่อไป แต่ ทอท.ก็ไม่ลดละความพยายาม โดยได้ขอให้สภาพัฒน์พิจารณาใหม่อีกครั้ง ในที่สุดสภาพัฒน์ได้มีมติค้านเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 และได้มีหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้ง ทอท.ต่อไป แต่ดูเหมือนว่าไม่สามารถหยุดยั้ง ทอท.ได้ ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือยังคงอยู่ในแผนงานก่อสร้างของ ทอท.
สำหรับเนื้อหาในหนังสือของสภาพัฒน์ฉบับที่ 2 สรุปคร่าวๆ ว่า สภาพัฒน์มีความเห็นให้ ทอท.เร่งขยายเทอร์มินัล 1 แทนการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ กล่าวคือ 1.ที่ตั้งของส่วนขยายด้านทิศเหนือจะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกับเทอร์มินัล 1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เช่น รถไฟฟ้าไร้คนขับ (เอพีเอ็ม) และระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เป็นต้น ทำให้ผู้โดยสารจะต้องมีขั้นตอนและระยะเวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก จะไม่มีการลงทุนในระบบดังกล่าว ทำให้วงเงินค่าก่อสร้างต่ำกว่า แต่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกับส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ซึ่ง ทอท.อ้างว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปี
2.จากการพิจารณาแนวโน้มฐานะทางการเงินของ ทอท. ระหว่างปี 2563-2576 พบว่าหากมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ทอท.อาจขาดสภาพคล่องทางการเงินระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ทอท.อาจต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสนามบินอื่น เช่น สนามบินดอนเมือง และสนามบินเชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ ทอท.ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ และ 3.สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ผู้โดยสารทางอากาศลดลงอย่างมาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 50-60% และจะกลับมามีจำนวนเท่ากับระดับเดิม (ปี 2562) ได้ในปี 2567
ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง การลงทุนพัฒนาจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่เกินจำเป็นในอนาคต ดังนั้น สภาพัฒน์จึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเว้นงานขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ซึ่งใช้เงินลงทุนต่ำกว่า แต่ ทอท.ควรเร่งดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 เนื่องจากมีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารน้อย เพราะเป็นการดำเนินการในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารชะลอตัว