จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้โรงแรมทยอยกลับมาเปิดให้บริการได้แล้วบางส่วน โดยโรงแรมในกรุงเทพฯ กลับมาเปิดได้ราว 75% แต่โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่าง เกาะสมุย ภูเก็ต มีโรงแรมกลับมาเปิดให้บริการได้ราว 20 % ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 37% ซึ่งขยับขึ้นมาจากการสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
แต่การเดินทางเที่ยวในประเทศอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ธุรกิจโรงแรมอยู่ได้ เพราะโรงแรมส่วนใหญ่พึ่งพิงลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก
ล่าสุดยังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการประเมินว่าจากเดิมคาดว่าธุรกิจจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2564 แต่จะลากยาวไปถึงสิ้นปี 2564 ทำให้โรงแรมที่กลับมาทยอยเปิดแล้ว ก็อาจจะต้องกลับมาปิดให้บริการอีกครั้ง
เนื่องจากขณะนี้โรงแรมต่างๆ มีลูกค้า ทยอยยกเลิกการเข้าพัก โดยเฉพาะในพื้นที่หัวหิน-ชะอำ มีการยกเลิกจองห้องพักมากที่สุด รวมถึงภูเก็ตก็มีการยกเลิกเข้าบ้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งต้องเดินทางผ่านจ.สมุทรสาคร ซึ่งนักท่องเที่ยววิตกว่าจะเกิดการล็อกดาวน์ ทำให้กลัวเดินทางไปแล้วจะกลับมาไม่ได้
ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) จึงได้เสนอ 4 มาตรการในการร้องขอให้รัฐบาล ช่วยลดต้นทุน ภาคธุรกิจโรงแรม เพื่อให้ธุรกิจพอประคองตัว และรักษาการจ้างงานได้ต่อไป
นางมาริสา สุโกศล นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าทีเอชเอ ได้จัดทำมาตรการที่จะร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาล ให้ช่วยเหลือเรื่องของการลดต้นทุนภาคธุรกิจโรงแรม เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมสามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ได้แก่
1.มาตราการพักชำระหนี้ ที่จะขอพักชำระหนี้กรณีภาคธุรกิจโรงแรม มีหนี้คงเหลือเดิมกับสถาบันการเงิน ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2% พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี
2.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ขอสนับสนุนผลักดันมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ภาคธุรกิจโรงแรมผ่านธนาคารพาณิชย์ ในการของวงเงินสนับสนุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ โดยให้อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินรายละ 60 ล้านบาทต่อโรงแรม ในอัตราดอกเบี้ย 2%
โดยปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์ หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือขอให้รัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งกองทุนค้ำประกัน และไม่จำกัดสิทธิสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท
3.มาตรการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้าง 50% Co-payment เพื่อรักษาการจ้างงานเดิมของสถานประกอบกิจการโรงแรมทั่วประเทศ โดยขอการสนับสนุนผลักดัน โครงการ Co-payment ของภาครัฐ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมทุกแห่งทั่วประเทศสามารถรักษาพนักงานเดิม ที่มีศักยภาพ และมีประสบการณ์ในการทำงานในภาคธุรกิจโรงแรม ให้มีการจ้างงานเดิมต่อไปได้
โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุน เงินเดือนค่าจ้าง 50% ของอัตราเงินเดือนที่จ้าง สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม จะต้องดำเนินกิจการถูกต้องตามกฎหมาย และพนักงานจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม (สัญชาติไทย)
ทั้งนี้มาตรการนี้จะช่วยให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานสามารถจ้างพนักงานเดิมจำนวน 2 แสนคน หรือจำนวนไม่เกิน 30% ของจำนวนพนักงานปัจจุบัน โดยเราขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุนเงินเดือนค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามจริง และฐานเงินไม่เกิน 15,000 บาท สูงสุดจำนวนเงินไม่เกินจำนวน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยขอให้รัฐโอนเงิน จ่ายโดยตรงเข้าบัญชีเงินเดือนลูกจ้างโดยตรง ผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี รวมวงเงินจะขอรัฐบาลสนับสนุนอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท
4.ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) และจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง โดยขอส่วนลดค่าไฟฟ้า 15% ตามใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564) ขอแบ่งชำระเป็นงวด โดยไม่เรียกเก็บเงินดอกเบี้ย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,639 วันที่ 27-30 ธันวาคม 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กธุรกิจโรงแรมไทยจี้รัฐเปิดประเทศรับต่างชาติ ตั้งกองทุนแสนล้านอุ้มธุรกิจ
เปิดพันธกิจ นายกสมาคมโรงแรมคนใหม่ ฝ่ามรสุมโควิด
ทีเอชเอเสนอตรงนายกฯฟื้นธุรกิจ-ปราบโรงแรมผิดก.ม.