การระบาดไวรัสโควิด-19 อีกระลอก ส่งผลกระทบ ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะภาคการบริการอย่างโรงแรม ล่าสุด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับกฎบัตรไทย ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานคณะกรรมกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดำเนินการโดยคณะวิจัยของสมาคมการผังเมืองไทย จัดทำโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่พลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 ดึงการเดินทางเข้าพื้นที่อันดามันเพื่อพักฟื้นสุขภาพกลางเริ่มไตรมาส 3 ปี 2564 คาดสร้างเศรษฐกิจทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า1.2แสนล้านรักษาการจ้างงานธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 5 พันตำแหน่ง
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย เลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าได้ร่วมกับกลุ่มพื้นที่จังหวัดอันดามันจัดทำ โครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 สนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำแก่โรงแรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการบริการ นำไปสู่การสร้างสถานประกอบการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพที่ได้มาตรฐาน และยังได้สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการทำตลาด เชื่อมโยงกับ กลุ่มคนตื่นตัวรักษาสุขภาพ (เวลเนสแพ็กเกจ) พร้อมช่วยประสานแผนกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและการจัดการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอันดามันอย่างเร่งด่วน
สำหรับโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 ในปี 2564 กฎบัตรไทยจะปฏิบัติการร่วมกับมหาวิทยาลัยจำนวน 17 แห่ง ในพื้นที่ 20 จังหวัด โดยเริ่มปฏิบัติการครั้งแรกกัมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ด้วยเหตุจากความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตจากการโรงแรมเป็นโรงแรมส่งเสริมสุขภาพอย่างเร่งด่วน ซึ่งตามแผน 3 ปี (2564-2566) พื้นที่อันดามัน โรงแรมจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 ห้อง สามารถจ้างงานนวัตกรรมด้านสุขภาพได้ไม่น้อยกว่า 20,000 ตำแหน่ง รวมการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนั้น โครงการฯ ยังมีแผนการพัฒนาเขตนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่ร่วมกับบางหน่วยงานและเทศบาลในพื้นที่เป้าหมาย โดยจะประกาศเขตนวัตกรรมสุขภาพพื้นที่เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลเมืองกะทู้ เทศบาลเมืองกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง และเทศบาลตำบลคึกคัก เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) กระตุ้นการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย และลดจำนวนความชุกของเด็กน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในเด็กด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี ระบุว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะประธานกรรมการกฎบัตรอันดามันกล่าวภายหลังการประชุมแกนนำกฎบัตรอันดามันว่า การประชุมแกนนำกฎบัตรอันดามันและ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 กฎบัตรไทย สมาคมการผังเมืองไทย ด้วยการเปิดอันดามันเวลเนสแพ็กเกจ หรือ Quality Wellness Package for Andaman Recovery จำนวน 6 เวลเนสแพ็กเกจ ร่วมกับ 100 โรงแรมในปี 2564 ซึ่งพร้อมการเปิดรับกลุ่มเป้าหมายในเดือนกรกฎาคม 2564 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 กฎบัตรไทย สมาคมการผังเมืองไทย ด้วยการเปิดอันดามันเวลเนสแพ็กเกจ หรือ Quality Wellness Package for Andaman Recovery จำนวน 6 แพ็กเกจ ร่วมกับ 100 โรงแรมในปี 2564 ซึ่งพร้อมการเปิดรับกลุ่มเป้าหมายในเดือนกรกฎาคม 2564
โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะระดมทรัพยากร ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ ด้านเภสัชศาสตร์ แพทย์แผนไทย ทันตกรรม การพยาบาล และเทคนิคการแพทย์ พร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการทดสอบและรับรองมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนแก่โรงแรมส่งเสริมสุขภาพที่เข้าร่วมแพ็กเกจ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้โรงแรมทั้งหมดเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 124 ชั่วโมง ในหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพเพื่อผู้บริหาร รุ่น 1 หรือหลักสูตร Wellness Hotel for Executive # 1 ที่นับเป็นหลักสูตรเวลเนสสำหรับผู้บริหารหลักสูตรแรกของประเทศ จะเปิดการอบรมในวันที่ 20 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป โดยเรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในวันเสาร์เต็มวัน มหาวิทยาลัยและกฎบัตรไทยได้จัดผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพทั้งจากในมหาวิทยาลัยและจากองค์กรภายนอกเป็นผู้บรรยาย
โครงการนี้ คาดหวังจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา โดยมีเป้าหมายการพยุงกิจการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งการรักษาการจ้างงานเดิมและการเพิ่มการจ้างงานนวัตกรรมสาขาสุขภาพใหม่ ด้วยการเปิดรับนักท่องเที่ยวผู้รักสุขภาพใช้บริการในโรงแรมเป้าหมายในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 55 โรง พังงา 25 โรงและกระบี่ 30 โรง ในปี 2564 และขยายเป็น 300 โรง ในปี 2565 ถึง 2566 สามารถจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ทางตรงและทางอ้อมกับโรงแรมและกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจนำเที่ยว อาหาร สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ความงาม แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย การขนส่งและเดินทาง และธุรกิจการท่องเที่ยวรวมผลตอบแทนการจ้างงานไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท
ด้านนายภูวนารถ ยกฉวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี-เฮลท์ตี้ เอเซีย จำกัด ในฐานะกรรมการกฎบัตรอันดามันสาขาดิจิทัลเฮลท์ กล่าวเสริมว่า เวลเนสแพ็กเกจที่ได้สรุปกับองค์กรพันธมิตรในปี 2564 นั้น มีจำนวน 6 แพ็กเกจ ประกอบด้วย แพ็กเกจด้าน การฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ แพ็กเกจ การฟื้นฟูสุขภาพด้วยแพทย์แผนไทยสำหรับคนวัยทำงาน แพ็กเกจ ด้านความงาม ด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร แพ็กเกจการฟื้นฟูการนอนหลับ แพ็กเกจด้านสมาธิและแพ็กเกจด้านทันตกรรม โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตได้ให้ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามันเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานงาน และจัดตั้งศูนย์บริการด้านการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพขึ้นที่วิทยาเขต เพื่อเป็นหน่วยบริการกลางด้านการส่งเสริม สุขภาพให้กับโรงแรมเครือข่าย จะมีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องประจำเพื่อให้บริการผ่านระบบดิจิทัลหรือการแพทย์ทางไกลพร้อมบริการฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้น กฎบัตรไทยและบี-เฮลท์ตี้ เอเซีย ยังได้ออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเฮลท์ จำนวน 7 แพลตฟอร์มสนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างโรงแรมในฐานะหน่วยบริการกับศูนย์บริการด้านการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งบริการดังกล่าว โรงแรมที่เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรก
ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564