หลังเครือซีพีทุ่มงบกว่า 3.38 แสนล้านบาทเข้าซื้อกิจการเทสโก้เอเชีย ทำให้ “CP” ถูกจับตามองว่าจะเดินเกมอย่างไร ด้วยเพราะมีข้อปฏิบัติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กำกับดูแล และช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือนหลังประกาศการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 “ซีพี” ก็ประกาศเปิดตัว แบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “โลตัส” (Lotus’s) พร้อมเปิดแนวรบ “ฟู้ด รีเทล” เต็มรูปแบบ
ผู้บริหารระดับสูง เครือซีพี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การใช้คำว่า “แบรนด์ใหม่” เพราะต้องการสร้างความแปลกใหม่ และต้องการบอกว่า “โลตัส” นับจากนี้คือ “Lotus’s” ที่มีความแตกต่างจากเดิม ที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ในรูปแบบ “Smart” ช้อปปิ้ง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันและในอนาคต โดยคำว่า Lotus’s ตัวอักษร s สื่อความหมายว่า “Smart” มาจาก Simple, Motivate, Agile, Responsible และ transformative และอีกมุมมองยังสะท้อนถึงการสร้างคุณค่าด้านความยั่งยืน (Sustainability)
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในวันเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “Lotus’s” ว่า Lotus’s ในยุคต่อไป จะเป็น Lotus’s ที่ก้าวเข้าสู่ยุค o2o คือ ออฟไลน์สู่ออนไลน์ จากจุดที่เราเป็นร้านค้าที่ผู้คนมาเดินหาซื้อของซื้ออาหาร แต่ต่อไปนี้จะไปถึงขั้นที่คนสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ และจะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าชุมชนขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ทำให้เกิดความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน
สำหรับภาพใหม่ของ “Lotus’s” ถูกเนรมิตให้เป็น Mega Food Store ศูนย์รวมอาหารครบครันทั้งในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกอาหารสด อาหารพร้อมทาน และอาหารแห้ง รวมถึงพื้นที่เช่า และศูนย์อาหาร ขณะที่
“เทสโก้ โลตัส เอ็กเพรส” ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Lotus’s go fresh” มุ่งเน้นสินค้าอาหารสด ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคใกล้บ้าน ในยุคนิวนอร์มอล
โพสิชั่นนิ่งใหม่ของ “Lotus’s” จึงแตกต่างกับ “เซเว่น อีเลฟเว่น” อย่างสิ้นเชิง จากก่อนหน้านี้ที่เซเว่นฯ เองมีการปรับโพสิชั่นนิ่งจากร้านสะดวกซื้อ มาเป็นร้านอิ่มสะดวก โดยขยับเพิ่มสัดส่วนสินค้าในกลุ่ม food ให้เพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 70% และกว่า 20% เป็น non-food โดยเฉพาะอาหารประเภทพร้อมทาน หรือ ready to eat และล่าสุดยังเพิ่มสัดส่วนอาหารสด เช่น ผัก เนื้อสัตว์ ฯลฯ ในร้านสาขาที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในช่วงเร่งด่วนหรือยามจำเป็น
แหล่งข่าวรายเดิม บอกอีกว่า ทุกแบรนด์มีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน อาจจะมีใกล้เคียงกันบ้างซ้ำซ้อนกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกแบรนด์จะมีจุดขายที่แตกต่างกัน เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท วันนี้กลุ่มลูกค้าหลักคือ ครอบครัว และมีเป้าหมายที่จะขยายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคารให้มากขึ้น จึงเพิ่มไลน์สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผักสด ของสินค้าอุปโภคให้มากขึ้น โดยชูจุดขายสด ใหม่ หลากหลายและครบครัน เพื่อความสะดวกใกล้บ้าน
อีกหนึ่งธุรกิจที่ซีพีมีอยู่คือ “แม็คโคร” ที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้า HORECA ได้แก่ โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง เป็นหลัก การขายจึงอยู่ในรูปแบบแคทแอนด์แครี่ ซึ่งปัจจุบันจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้แม็คโครเอง ปรับรูปแบบการให้บริการเน้นขยายการขายแบบดีลิเวอรีและออนไลน์มากขึ้น ล่าสุด “แม็คโคร” ยังเปิดโมเดลใหม่ “Fresh@Makro” เพื่อให้บริการดีลิเวอรีแก่ร้านอาหารรายย่อยและครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งหลังทดลองเปิดให้บริการได้รับการตอบรับดีพอสมควร
หากมองถึงแผนการขยายสาขาในแต่ละฟอร์แมตจะเห็นว่าแบรนด์หลักในกลุ่มค้าปลีก ยังคงเป็น“เซเว่น อีเลฟเว่น” ซึ่งแต่ละปีจะใช้เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาทในการขยายสาขา ซึ่งในปีนี้เซเว่นฯ ตั้งเป้าที่จะมีสาขาครบ 1.3 หมื่นสาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1.22 หมื่นสาขา ต่อไป “โลตัส” ซึ่งมีสาขารวมราว 2,000 สาขา จะทะยอยปรับเหลือ Lotus’s ในรูปแบบ Mega Food Store กว่า 400 แห่ง ที่เหลือจะเป็น Lotus’s go fresh อีกราว 1,600 แห่ง ส่วน “ซีพีเฟรชมาร์ท” ซึ่งในปีก่อนมีอยู่กว่า 400 สาขาจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500 สาขาในปีนี้ โดยจะมุ่งขยายในหัวเมืองรองมากขึ้น เพื่อเสิร์ฟอาหารสดให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างสะดวก และรวดเร็วจากบริการที่มีอยู่ และการเปิดให้บริการ 24 ชม. ด้วย ขณะที่ “แม็คโคร” ในปีที่ผ่านมามีสาขารวม 136 สาขาในประเทศไทยและอีก 8 สาขาในต่างประเทศ และยังคงขยายสาขาเพิ่มขึ้นในหัวเมืองหลัก
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธุรกิจ “ฟู้ด รีเทล” ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค (อาหารสด อาหารแห้ง อาหารแปรรูป) จะมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดย 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ย 5-9% แต่ในปี 2563 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาพรวมธุรกิจฟู้ด รีเทลทรงตัว โดยพบว่า แม้ช่องทางโมเดิร์นเทรดจะปิดให้บริการชั่วคราว แต่ช่องทางเทรด ดิชั่นแนลเทรดยังคงเปิดให้บริการ รวมถึงมาตรการ Work from home ทำให้ผู้บริโภคหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น
นับจากนี้คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ธุรกิจ “ฟู้ด รีเทล” จะดุเดือดแค่ไหน โดยเฉพาะจากบิ๊กเนมอย่าง “เซ็นทรัล กรุ๊ป” และ “บีเจซี”
ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564