ถึงวันนี้มีความแน่นอนแล้วว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย จะไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรืออาจต้องสะดุดลง หลังจากสิ้นสุดสัมปทานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในวันที่ 23 เมษายน 2565 เนื่องจากบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ ซึ่งเป็นบริษัท ลูกของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่และเตรียมการดำเนินการต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้
การลงนามในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 ระหว่างปตท.สผ.และเชฟรอนฯ ถึงวันนี้ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่ตามแผนงานจะต้องลงนามในช่วงไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว เพื่อที่จะเข้าไปติดตั้งแท่นหลุมผลิต วางท่อ การเจาะหลุมผลิตบนแท่นที่ติดตั้งใหม่ และการเชื่อมต่อระบบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งหมายความว่าระยะเวลาที่เหลือ 14 เดือน ทางปตท.สผ.จะไม่สามารถเข้าดำเนินการผลิตก๊าซฯตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 24 เมษายน 2565 ได้ ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงพลังงานของประเทศอย่างแน่อนอน หากกระทรวงพลังานไม่มีแผนรองรับไว้
แหล่งข่าวจากวงการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยว่า เหตุที่เชฟรอนฯ ไม่ยอมให้ปตท.ผส.เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงาน และทรัพย์สิน เพราะยังมีอายุสัมปทานเหลืออีกราว 14 เดือน รวมถึงความผิดตามกฎหมาย โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดมารับผิดชอบ
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะคนกลาง หากต้องการให้การเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ข้อยุติ และยังมีเวลาที่จะเร่งดำเนินการตามแผนเพื่อไม่ให้การผลิตก๊าซฯเกิดการสะดุด ภาครัฐเองจะต้องออกหนังสือหรือทำประกันอุบัติเหตุ เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดเหตุขึ้นมา หากรัฐดำเนินการได้ทางเชฟรอนฯก็ยินยอมให้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ ซึ่งการจ่ายเงินค่าประกันอุบัติเหตุภาครัฐก็ยังไม่จำเป็นต้องจ่ายเอง เพียงแต่เป็นคู่สัญญาและให้ทางปตท.สผ.เป็นผู้จ่ายแทน แต่ที่ผ่านการการเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในเรื่องนี้ยังนิ่งเฉย
“ทางเชฟรอนฯ ยินดีที่จะให้ปตท.สผ.เข้าติดตั้งแท่นในแหล่งเอราวัณ หากภาครัฐหรือปตท.สผ. ยอมที่จะจ่ายค่าประกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ความล่าช้าที่เกิดขึ้น เพราะภาครัฐไม่มีระเบียบรองรับ กับความเสียหายที่เกิดขึ้น หากยอมให้ผู้รับสัมปมทนรายใหม่เข้ามาในพื้นที่”
ส่วนกรณีการวางประกันค่ารื้อถอนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และนำเข้าสู่การฟ้องร้องในอนุญาโตตุลาการ โดยรัฐจะมีการเก็บไว้ใช้งานต่อจำนวน 142 แท่น และจะต้องรื้อถอน จำนวน 49 แท่น (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว 7 แท่น) ซึ่งแต่เดิมเชฟรอนฯ จะต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนทั้งหมดราว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทางเชฟรอนฯ ไม่ยอมวางทั้งหมด เพราะรัฐนำแท่นไปใช้ประโยชน์ต่อ ตกลงกันไม่ได้ จนต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาตโตตุลาการเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจรจาคู่ขนานภาครัฐยอมที่จะให้วางหลักประกันค่ารื้อถอนตามปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่เหลืออยู่ ที่เป็นทางออกร่วมกัน
สุดท้ายกรรมการเจรจาที่เป็นคนนอกมีข้อท้วงติง หากไม่วางหลักประกันค่ารื้อถอนทั้หมด เกรงว่าทางเชฟรอนฯจะเบี้ยวไม่ทำการรื้อถอน การเจรจาต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ที่ต้องให้วางประกันค่ารื้อถอนทั้งหมดใหม่ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
ทั้งนี้ เชฟรอนฯ เห็นว่า การวางหลักประกันค่ารื้อถอนทั้งหมด ไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐนำแท่นส่วนใหญ่ไปใช้ประโยชน์ต่อ จึงไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องมารื้อถอน อีกทั้ง ในสัญญาสัมปทานที่ทำกันไว้กว่า 30 ปี การรื้อถอนแท่นมากำหนดรายละเอียดในกฎกระทรวงไว้ภายหลังเมื่อปี 2559 ทำให้เกิดความเสียเปรียบที่จะต้องแบกรับภาระทั้งหมด
ขณะที่ความคืบหน้าของกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการนั้น ทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เชฟรอนฯ และคนกลาง อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน และข้อเท็จจริง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้ข้อยุติ
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า กรมฯจะพยายามเร่งให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาหารือ เพื่อให้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเร็วที่สุด เพื่อการบริหารพลังงานของประเทศจะไม่มีการสะดุด และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ที่มา : หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564