ลุ้นระทึก 12 พ.ค.นี้ชี้ชะตาแผนฟื้นฟู"การบินไทย"รอด-ร่วง

10 พ.ค. 2564 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2564 | 09:34 น.

ลุ้นระทึกประชุมเจ้าหนี้ 12 พ.ค.นี้ ชี้ชะตาโหวตแผนฟื้นฟู"การบินไทย"รอดหรือร่วง จับตาประชุมครม.11 พ.ค.นี้ คลัง-คมนาคม ถกต่อดึงกลับเป็นรัฐวิสาหกิจ-ค้ำประกันเงินกู้ เดิมพันหนุนเจ้าหนี้-คลังใส่เงินฝั่งละ2.5หมื่นล้านบาท

ในการประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทย วันที่ 12 พ.ค.นี้  นับว่าเป็นการโหวตชี้ชะตาอนาคตของการบินไทย ซึ่งยังคงต้องลุ้นกันหืดจับ เนื่องจากแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่มีการหารือกับเจ้าหนี้หลัก ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้เงินกู้สหกรณ์  ที่ได้บทสรุประดับหนึ่ง

โดยเฉพาะแผนการใส่เงินอุ้มการบินไทย ซึ่งเจ้าหนี้สถาบันการเงิน อย่างธนาคารกรุงเทพ,กรุงไทย พร้อมจะใส่เงินกู้ให้การบินไทยจำนวน 50% หรือราว2.5 หมื่นล้านบาท โดยขอให้รัฐค้ำประกันเงินกู้ และกระทรวงการคลังปล่อยกู้อีก 50% อีกราว 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท3  

แต่กรอบที่ตกลงกันไว้ระดับหนึ่งก่อนที่เจ้าหนี้จะสนับสนุนการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ ก็ดูไม่ง่าย หลังจากการประชุมครม.เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 กระทรวงคมนาคม คัดค้านแผนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่กระทรวงการคลังนำเสนออย่างหนัก จนนายกประยุทธ์ จันทรโอชา ต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปสรุปข้อดี-ข้อเสีย ก่อนจะนำเสนอครม.อีกครั้งในวันที่ 11 พ.ค.นี้

งานนี้ก็ต้องรอลุ้นว่าครม.จะมีมติอย่างไรกับการบินไทยออกมา เพราะการจะให้สถาบันการเงินใส่เงินอุ้มการบินไทย ธนาคารก็คงคิดหนัก ถึงต้องการความมั่นใจว่าจะได้รับการค้ำประกันเงินกู้  แต่เมื่อวันนี้ยังไม่ชัด แบงก์ก็คงคิดหนักพอสมควรต่อการโหวตแผนในครั้งนี้ และถ้าการบินไทยไม่มีเงินเข้ามา การจะดำเนินธุรกิจต่อตามแผนฟื้นฟู ก็ปิดตายได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19นี้ด้วยแล้ว

อีกทั้งถ้าการบินไทยไม่ได้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ สัญญาต่างๆที่มีอยู่กับทางภาครัฐต่างๆโดยเฉพาะบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.เมื่อหมดสัญญาไปก็คงไม่ต่อสัญญา ต้องมาเริ่มนับ1ด้วยการเข้าไปประมูลตามพ.ร.บ.รัฐร่วมทุนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้กลับไปดำเนินการได้เหมือนเดิม ซึ่งเฉพาะสัญญาที่มีกับทอท.ก็มีมากถึง 47 สัญญา

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรมบังคับคดี จะจัดประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทยผ่านอีเล็กทรอนิกส์ (อี-มิตติ้ง) มูลค่าหนี้ที่เจ้าหนี้จะมีสิทธิ์โหวตแผนฟื้นฟู คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่อยู่ในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม-14 กันยายน 63 ที่การบินไทยยื่นฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่หนี้รวม 4 แสนล้านบาทที่เจ้าหนี้เอาหนี้ในอนาคต 10 ปีมารวมเป็นหนี้ด้วย 

เจ้าหนี้หลักที่จะโหวต จะเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 40% เจ้าหนี้สถาบันการเงินเอกชน 3.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 17% เจ้าหนี้การค้าราว 10% เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง 13,000 ล้านบาท คิดเป็น 7-8% นอกนั้นอีก 4-5% เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินจากต่างประเทศ

โดยขั้นตอนการโหวตในวันดังกล่าวเจ้าหนี้ก็จะโหวตว่าจะรับแผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอหรือไม่ การตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู การตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้

ลุ้นระทึก 12 พ.ค.นี้ชี้ชะตาแผนฟื้นฟู\"การบินไทย\"รอด-ร่วง

“ตามแผนฟื้นฟูการที่เราแฮร์คัทไม่เยอะ แต่เรายืดหนี้ไปไกล ก็คือการแฮร์คัทอย่างหนึ่ง ถ้าปล่อยล้มละลาย ก็จะกระจายเงินเอาทรัพย์สินไปขายก็จะได้มาประมาณ 13% แต่เราทำตรงนี้ที่เราคุยกับเจ้าหนี้มาแล้ว จะได้ 40-60% แล้วแต่กลุ่มหนี้แล้วแต่วิธีคิด เพราะเราเจ้าหนี้อยู่ 36 กลุ่ม บางรายเราก็จ่ายดอกเบี้ยเป็นช่วงๆ บางรายก็ยืดหนี้ไป 6 ปี  ในภาพของแต่ละเจ้าหนี้มีความสนใจแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามต้องคำนวณ NPV กลับมาให้ใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน และเชื่อว่าเจ้าหนี้ยังจะสนับสนุนแผนฟื้นฟูการบินไทย” นายชาญศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่ศาลล้มละลายกลาง อนุมัติแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม2564 พบว่าเจ้าหนี้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ 13,133 ราย เป็นภาระหนี้ที่นำมาปรับโครงสร้างตามแผนตามมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 410,140 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 404,151 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ 5,989 ล้านบาท

หลักการและขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ

การลดภาระหนี้ของการบินไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะทำให้การบินไทยชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง ผู้ทำแผนจึงเสนอแนวทางและขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

การปรับโครงสร้างทุน เนื่องจากการบินไทยมีผลขาดทุนสะสมจำนวนมากและส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ทำให้มีความจำเป็นต้องได้รับเงินเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือนักลงทุนรายใหม่ นอกจากนี้ในแผนกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มมีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้บางส่วนเป็นหุ้นสามัญ

การจัดหาแหล่งเงินทุนโดยการกู้ยืมใหม่ เพื่อนำเงินมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ และ/หรือค่าใช้จ่ายของการบินไทย และ/หรือเพิ่มความสามารถทางการเงินในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับที่ผู้บริหารแผนเพิ่มทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในแผน

การปรับโครงสร้างหนี้ แผนกำหนดให้ปลดหนี้ภาระหนี้เงินต้นบางส่วน และ/หรือดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดหรือบางส่วน ค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมด การแปลงหนี้บางส่วนเป็นทุน การพักชำระหนี้ และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างหนี้จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้การบินไทยล้มละลาย

การปรับโครงสร้างธุรกิจ ผู้บริหารแผนอาจปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยแยกหน่วยธุรกิจ เช่น ครัวการบิน การให้บริการภาคพื้นดินและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศและคลังสินค้า และการซ่อมบำรุงอากาศยาน จัดตั้งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยการบินไทย และผู้บริหารแผนอาจพิจารณาขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม/ย่อยปัจจุบันและที่ตั้งใหม่บางส่วนให้ผู้สนใจ

การจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า เข้าทำธุรกรรมหรือบริการเพื่อใช้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินรองหรือทรัพย์สินส่วนเกิน หรือที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหลัก รวมถึงที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ หุ้นหรือเงินลงทุนในบริษัทร่วม/ย่อย เครื่องบิน เครื่องยนต์ และ/หรือสินค้าคงเหลือ/พัสดุที่เกินความจำเป็นต่อการดำเนินงาน เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ

การก่อหนี้และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว

การที่การบินไทยจะดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องและชำระหนี้ได้ตามแผน ต้องได้รับสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ใน 2-3 ปี นับแต่วันที่ศาลเห็นชอบแผน ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท โดยผู้บริหารแผนมีอำนาจใช้เงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ในแผนนี้เจ้าหนี้ยอมให้การบินไทยเพิ่มทุน ระดมเงินทุน ก่อหนี้ และ/หรือขอรับการสนับสนุนทางการเงินไม่ว่ารูปแบบใด ทั้งนี้ผู้บริหารแผนนำทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันไปเป็นหลักประกันสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นใดในการดำเนินการดังกล่าว ผู้บริหารแผนมีอำนาจเจรจา ตกลงเงื่อนไขสัญญาและทำสัญญา

การสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ ผู้บริหารแผนอาจดำเนินการใดๆ ดังนี้

1.การขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคลใดๆ เป็นจำนวน 25,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากผู้บริหารแผนเห็นว่าหานักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคลใดๆ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวน 25,000 บาท อาจขอสินเชื่อใหม่ให้เต็มจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องพอ

2.ขอรับสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ของการบินไทย บุคคลอื่นใด 25,000 ล้านบาท ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Loan) และ/หรือตราสารใดที่ผู้บริหารแผนเจรจากับผู้สนับสนุนทางการเงิน

การแต่งตั้งผู้บริหารแผน กำหนดให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผน โดยทั้ง 2 คน ใช้อำนาจร่วมกันในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และการลงนามในเอกสารเพื่อทำธุรกรรมให้ทั้ง 2 คน มีอำนาจลงนามร่วมกันเพื่อผูกพันการบินไทย ผู้บริหารแผนจะได้รับค่าตอบแทนไม่เกินปีละ 5 ล้านบาทต่อคน

ลุ้นระทึก 12 พ.ค.นี้ชี้ชะตาแผนฟื้นฟู\"การบินไทย\"รอด-ร่วง

ผลสำเร็จของแผน

1.ได้รับเงินเพิ่มทุน/สินเชื่อใหม่และได้แปลงหนี้เป็นทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในแผนในจำนวนที่พอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการชำระหนี้ตามเงื่อนไขในแผน โดยไม่เกิดเหตุผิดนัดได้ติดต่อกัน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีเงื่อนไขคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลักหักเงินสดจ่ายหนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในปีก่อนหน้าที่จะรายงานศาลถึงผลสำเร็จของการฟื้นฟู

เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จให้ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องต่อศาล และ/หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟู ซึ่งการดำเนินการตามแผนมีเวลาไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่ศาลมีคำสั่งให้ขยายเวลาตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

ดังนั้นการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จึงเป็นการชี้ชะตาการดำเนินธุรกิจของการบินไทยที่จะรอดหรือร่วงจากนี้

ข่าวเกี่ยวข้อง: