แม้ การบินไทย เตรียมแผนสร้างรายได้ ด้วยการทยอยกลับมาเปิดบินอีกครั้งในไตรมาส 3 ปีนี้ รองรับ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" และการเปิดประเทศในช่วงปลายปีนี้ แต่ความถี่ที่ยังไม่เท่าเดิม จากดีมานต์ที่ยังน้อยอยู่จากโควิด-19 การลดค่าใช้จ่ายจึงยังโฟกัสตามแผน ระหว่างรอ ศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบ แผนฟื้นฟู ซึ่งศาลฯมีนัดหมายพิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ถ้าศาลฯเห็นชอบด้วยแผน ก็จะเดินหน้าหาแหล่งเงินใหม่ 5 หมื่นล้านบาทมาเสริมสภาพคล่อง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในช่วงกว่า 1 ปีนี้ การบินไทย เดินแผนลดค่าใช้จ่ายมาอย่างต่อเนื่อง โดยลดค่าใช้จ่ายไปได้แล้วราว 3 หมื่นล้านบาท ภายใต้ 5 เรื่องหลัก ได้แก่
1.การลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ซึ่งในปี 62 การบินไทยมีพนักงาน 2.9 หมื่นคน หลังการคัดพนักงานเข้าโครงสร้างองค์กรใหม่ปี 2564 ในเดือนพ.ค. 64 เหลือพนักงานอยู่ราว 1.6 หมื่นคน คาดว่าต้นทุนด้านบุคลากรเหลือราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีจากเดิมมีค่าใช้จ่ายด้านนี้อยู่ราว 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
2.การเจรจาต่อรองค่าเช่าเครื่องบิน เช่น Pay For Hour (จ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามชั่วโมงที่ทำการบิน)
3.การเจรจาปรับลดค่าเช่าซื้อเครื่องบิน
4.การปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ
5.การปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 4 แบบ
ทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนหลัก เพราะในช่วงแรกที่จะกลับมาเริ่มบินปกติ การบินไทยคงใช้เครื่องบินราว 50-60 ลำ และเพิ่มขึ้นราว 70-80 ลำในปี 68-69 จากเครื่องบินที่มีอยู่ 103 ลำ ดังนั้นเครื่องบินที่จะไม่ได้ใช้งานบางส่วน ก็จะเจรจาขอคืนราว 10 กว่าลำ ลำไหนที่เก่า และไม่คุ้มทำการบินก็มีแผนจะขายออกไป
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าหลังจากการเปิดกลั่นกรอง (Relaunch) เข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ พบว่า ณ วันที่ 20 พ.ค. 2564 มีพนักงานผ่านการกลั่นกรองทั้ง 3 ครั้ง รวม 10,733 คนในตำแหน่งถาวร และตำแหน่งชั่วคราวรวม 257 คน รวมเป็น 10,990 คน และเหลือตำแหน่งงานว่างอีก 25 ตำแหน่ง ขณะที่มีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) ได้แก่ MSP A, MSP B, MSP C และ MSP B&C รวมทั้งสิ้น 6,725 คน
นอกจากนี้ยังมีพนักงานอีกราว 1 พันคนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ก็ยังลุ้นอยู่ว่าจะได้รับการจัดเข้าสู่โครง สร้างใหม่หรือไม่ หรือจะต้องถูกเลิกจ้างตามกลุ่มพนักงาน 508 คนที่ไม่ได้แสดงความจำนงใดๆก่อนหน้านี้ เนื่องจากการบินไทย ยังคงมีแผนปรับลดพนักงานให้เหลือราว 1.5 หมื่นคนภายในสิ้นปี 64
อีกทั้งในขณะนี้การบินไทยยังได้เปิดโครงการให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือ ลูกเรือ ทั้งแอร์โฮสเตส สจ๊วต จำนวน 2,700 คน รวมถึงเพอร์เซอร์ อีก 300 คน รวมเป็น 3,000 คน สมัครใจลาหยุดยาว 9 เดือน โดยรับเงิน 20% ของเงินเดือน ในช่วงที่ไม่ได้ทำการบิน 9 เดือน ส่วนอีก 3 เดือนที่สลับกันทำการบิน ก็จะได้รับเงินเดือนปกติ
ทั้งนี้การลาหยุดยาว 9 เดือน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 64 ถึง 28 ก.พ. 65 เนื่องจากในช่วงแรกการบินไทยจะทำการบินด้วยความถี่ที่ยังน้อยอยู่ ไม่เหมือนปกติ เพื่อรองรับสถานการณ์การบินยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งลูกเรือที่สมัครใจลาหยุดยาว 9 เดือน สามารถไปหาอาชีพเสริมในช่วงดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตามมาตรการนี้เป็นการดำเนินการลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนของพนักงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ในการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ซึ่งการบินไทยได้เปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร หรือ MSP เดิมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของการบินไทย มีทั้งหมดราว 5,000 คน แต่หลังการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ปี2564 ตำแหน่งนี้ก็หายไปกว่า 2,000 พันคน
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่หายไป มีทั้งสมัครใจลาออก บางคนก็สมัครไปทำงานฝ่ายครัว หรือฝ่ายอื่นๆตามการรับสมัครเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกพนักงานเข้าโครงสร้างองค์กรใหม่ปี2564 ซึ่งแนวทางการเปิดให้หยุดยาว 9 เดือนเป็นโครงการที่มีการแจ้งให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินรับทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว
โดยบางคนที่มีภาระไม่สามารถรับเงินเดือนที่20% รวมถึงการทำการบินในยุคโควิด เมื่อบินเสร็จก็ต้องหยุดกักตัวอีก 14 วัน ที่ต้องหายจากบ้านไป บางคนก็ไม่ไหว ก็เลือกเข้าโครงการMSP เพื่อไปหางานใหม่ ส่วนบางคนที่ยังไม่มีที่ไป หรืออายุ40ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกที่จะอยู่ต่อ และหาอาชีพเสริมเอา
สำหรับความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูการบินไทย ก็ต้องรอลุ้นการพิจารณาของศาลล้มละลาย ที่มีนัดพิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ว่าจะเห็นชอบด้วยแผนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย หลังจากการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแผนดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบ รวมถึงการตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูจำนวน 5 คน และคณะกรรมการเจ้าหนี้ทั้ง 7 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยคณะกรรมการเจ้าหนี้ 7 ราย ประกอบไปด้วย1.ตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2.กระทรวงการคลัง 3.นายชาติชาย โรจนรัตนางกูร (ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์) 4.พลตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล (ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์) 5.ดร.ประชา คุณธรรมดี (ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์) 6.นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ (ตัวแทนบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ7.ธนาคารออมสิน
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง