จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ที่เข้าขั้นวิกฤติ จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงหลัก 3,000-4,000 รายต่อวันติดต่อกันต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลต่างๆรวมถึงโรงพยาบาลสนามไม่มีเตียงรองรับ
ล่าสุด ศบค. เตรียมประกาศให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯและปริมณฑลพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ รวมถึงพื้นที่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนักและมีผู้ติดเชื้อสูง
โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะประกาศล็อกดาวน์ “ร้านอาหาร” ทุกประเภท โดยห้ามนั่งรับประทานในร้านแบบ 100% ให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น เป็นระยะเวลา 15 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็พร้อมขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ต่อไป
รวมถึงล็อกดาวน์ “แคมป์คนงานก่อสร้าง” ห้ามเข้า-ออกและเคลื่อนย้ายคนแบบ 100% หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมโรค เบื้องต้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เช่นกัน โดยจะมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลช่วยเหลือแรงงานคนไทยและแรงงานต่างชาติ
ทั้งนี้ นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า ไม่แปลกใจที่สถานการณ์จะออกมาในลักษณะนี้เพราะไม่เช่นนั้นการบริหารปริมาณของผู้ติดเชื้อจะยิ่งจัดการได้ยาก
แต่ในส่วนของร้านอาหาร ส่วนตัวเห็นด้วยกับสมาคมค้าปลีก คือรัฐบาลต้องลงมาดูและพิจราณาการปิดล็อกดาวน์เป็นโซน ดีกว่าการปูพรมในลักษณะแบบนี้ เพราะปกติร้านอาหารมีปริมาณการติดเชื้อไม่สูง และพนักงานในร้านอาหารส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว จากโควต้าม.33
สำหรับพนักงานในเครือของZEN ประมาณ 90% ได้ฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อย โอกาสที่จะกระจายเชื้อไปสู่ลูกค้าแทบจะเป็น 0 ดังนั้นมาตราการล็อกดาวน์ร้านอาหารแบบปูพรม จะส่งกระทบอย่างมากโดยเฉพาะร้านอาหารรายกลางและรายเล็ก ที่จะบริหารจัดการยาก เพราะร้านอาหารเองเพิ่งได้รับการอนุญาตให้เปิดขายได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์จากมาตราการผ่อนคลายครั้งก่อน
นอกจากนี้การสั่งปิดร้านอาหารยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ค้าอื่นในศูนย์การค้า เพราะปฏิเสษไม่ได้ว่า ร้านอาหารเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการและจับจ่ายที่ศูนย์การค้ามากที่สุด เมื่อร้านอาหารถูกสั่งปิด ทราฟฟิกคนเดินของศูนย์การค้าก็ลดลงตามไปด้วย
“ ต้องอย่าลืมว่ารัฐบาลเพิ่งขยายเวลาจากนั่งทานในร้านอาหาร 25% ผ่อนคลายขึ้นมา 50% ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งการให้ลูกค้านั่งในร้าน เราเข้มงวดมาก มีการเข้าคิว เว้นระยะห่าง พนักงานในร้านฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก มาตราการความปลอดภัย เรื่องมาตรฐานเต็ม 100% ในส่วนของZEN หลังจากนี้คงต้องกลับไปทำเหมือนเดิมคือ Take away และเดลิเวอรี่”
ทางด้านของ นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ก่อนหน้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ครั้งนี้คงต้องประคองตัวเองไปก่อน15 วัน
โดยดำเนินตามแผนที่บริษัทเคยวางไว้คือโฟกัสเรื่องการจัดการ การขายของหน้าร้านต่างๆเน้นบริการ Take home และ Delivery เป็นหลัก รวมทั้งมาตรการการดูแลความปลอดภัยของทั้งพนักงานและลูกค้าซึ่งบริษัทได้ดำเนินการตั้งแต่การล็อคดาวน์ร้านอาหารรอบที่ผ่านมา คือมาตราฐาน SHA ในทุกสาขาและทุกแบรนด์ในเครือ
นอกจากการจำหน่ายสินค้าต่างๆ บริษัทยังพยายามกระจายความเสี่ยงและเพิ่ม experience ในมุมของเดลิเวอรี่มากขึ้นผ่านแคมเปญยืมคืนกระทะหรือGON Home Party ซึ่งปัจุบันมี 9 สาขา และเป็นส่วนที่ทำให้บริษัทยังสามารถประคองธุรกิจเดลิเวอรี่ในช่วงที่ร้านอาหารต้องถูกบังคับพักร้อน
“การล็อกดาวน์ร้านอาหารครั้งนี้ไม่ได้ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง เพราะถ้าสามารถช่วยได้จริงคงช่วยไปนานแล้ว ควรจะต้องกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ1 การเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุดและหลากหลาย รวมทั้งกระจายวัคซีนให้เข้าถึงภาคบริการที่ต้องติดต่อกับผู้บริโภคทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งมวลชน messenger ที่ส่งเดลิเวอรี่ จะเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด
2 กระจายวัคซีนให้คนในพื้นที่หัวเมืองท่องเที่ยวของประเทศ และ3 ความเท่าเทียมกันของบริษัทเอกชนในการเข้าถึงวัคซีน ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :