กรณีส.ส.พรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรแทนกัน ในระหว่างประชุมร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯปี2563 กลายเป็นประเด็นที่จะส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2563 กลาย เป็นโมฆะได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ที่แน่ๆ ทำเอาบรรดาบิ๊กธุรกิจตั้งแต่รายเล็กไปถึงรายใหญ่ออกอาการนั่งไม่ติดกันเป็นแถว เพราะต่างรู้ชะตากรรมว่า ภาพรวมเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนสถานะจากที่ปี 2562 อยู่ในสภาพหยอดน้ำเกลือ จนไปสู่ไตรมาสแรกปี 2563 ที่เศรษฐกิจกำลังเดินไปสู่ห้องไอซียู หากงบประมาณปี2563 ล่าช้าต่อไปอีก
ปัญหาเก่ายังไม่จบเรื่องใหม่จ่อคอหอย
ผสมโรงกับปัญหาเก่าที่ยังคุกรุ่นทั้งผลจากสงครามการค้าและปัญหาเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบค่าเงินบาท ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลง อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่จะเป็นโจทย์ใหญ่รอคิวทุบภาคการผลิตซ้ำ
เห็นได้ชัดเจนจากที่ล่าสุดนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงทำให้กระทบต่อผลผลิตและรายได้ของภาคเกษตร
ผลกระทบที่เกิดขึ้นสะท้อนจากคำสั่งซื้อและยอดขายของสินค้าที่ลดลงทั้งจากสินค้าคงทนและไม่คงทน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง ตลอดจนความผันผวนของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอีกเช่นกัน
-สำรวจ 70% ยังกังวลศก.โลก
นอกจากนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,207 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2562 พบว่าผู้ประกอบการ 70.1 % ยังคงกังวลปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลก, 61.2% กังวลอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก และ 43.2% กังวลการเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 39.6 และ 20.6 ตามลำดับ ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และขอให้ภาครัฐหามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเมืองควรต้องเล่นตามกติกา งบประมาณเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ และเป็นเส้นเลือดที่วิ่งไปทุกจุดของประเทศตั้งแต่เมืองใหญ่ไปยังจังหวัด ตำบล อำเภอ หมู่บ้านตามชนบท ความจริงงบประมาณต้องลงระบบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ล่าช้ามา 4-5 เดือนแล้ว และส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ใช้จ่ายได้เฉพาะงบประจำปีหรือเงินเดือนที่พยุงเศรษฐกิจไว้ แต่งบลงทุนที่จะไปต่อเติม ก่อสร้าง อาคาร หรืองบช่วยภัยแล้งก็ลงมาไม่ได้ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจอ่อนแออยู่แล้วจากแรงกระแทกปัจจัยภายในและภายนอก และกำลังจะถูกซ้ำเติมอีก อย่าลืมว่าปี 2562 เศรษฐกิจก็อยู่ในอาการหยอดน้ำเกลืออยู่แล้ว ถ้างบประมาณลงระบบช้าต่อไป เชื่อว่าไตรมาสแรกปี2563จ่อเข้าไอซียู เพราะรัฐใช้จ่ายอะไรไม่ได้ไม่มีงบลงระบบ
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการส่งออกนำติดลำดับต้นๆของประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นจากคนเพียงกลุ่มเดียวกำลังทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบของประเทศพัง อยากให้นักการเมืองมองประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศเป็นหลักก่อน เวลานี้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมต่างมองว่าถ้าไตรมาส2 ยังปลุกเศรษฐกิจรวมไม่ฟื้น เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นต่อท่อหายใจแน่ ถ้าเงินงบประมาณไม่ลงระบบการจับจ่ายไม่เกิด ไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ขยับ เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนลำบาก เพราะเวลานี้ตัวช่วยด้านส่งออก ก็ยังไม่ดีขึ้น
ฟังเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจแล้วภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจเข้าข่ายเผาจริงตามที่เคยประเมินไว้เมื่อปีที่ผ่านมา วันนี้ต้องตั้งคำถามว่า...เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร!!! หลายปัจจัยลบรุมเร้าลำพังปัจจัยภายนอกก็รับศึกแทบไม่ไหว มาถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยภายในหลายตลบ มองในแง่นักลงทุนก็ต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ อยู่ที่ว่าใครสายป่านยาวอาจรอด ห่วงแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจไปต่อลำบาก ถึงตอนนี้กราบวิงวอนบรรดานักการเมืองขอให้คำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลักก่อน!
คอลัมน์ : Let Me Think
โดย : TATA007
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
2563 เศรษฐกิจ เผาจริง!!!
เอกชนห่วงงบปี 2563 โมฆะ เศรษฐกิจทรุดหนัก