คอลัมน์ : Let Me Think
โดย :งามตา สืบเชื้อวงค์
ปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้เหล็กที่หดตัวในทุกภูมิภาค และสถานการณ์การผลิตที่หยุดชะงัก สาเหตุหลักมาจากผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19
ไล่เลียงตั้งแต่จีน ในฐานะประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกที่มีกำลังผลิตต่อปีกว่า 900 ล้านตันเมื่อปี 2562 ที่ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ออกมาเปิดเผยยอดรวมการผลิตเหล็กของจีนในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ว่า มีการผลิตทั้งสิ้น 234.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยปริมาณการผลิตเหล็กดังกล่าวถือเป็นระดับผลผลิตที่สูงมาก และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและ การบริโภคที่ยํ่าแย่ภายในประเทศจีน
ขณะที่ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เหล็กในสัดส่วนสูงสุดคิดเป็น 48% ของความต้องการการใช้เหล็กของจีนหดตัวเกือบ 20% โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่า การลงทุนสินทรัพย์ถาวรหดตัว -16.1% ขณะที่การลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หดตัว -19.7% และการลงทุน ตลาดอสังหาริมทรัพย์หดตัว -7.7%
จากความไม่สมดุลของระดับผลผลิตเหล็กที่ออกมาเมื่อเทียบกับความต้องการใช้เหล็กที่หายไปอย่างรุนแรง จึงส่งผลกระทบต่อระดับสต๊อกเหล็กในจีน ทำให้รัฐบาลจีนต้องงัดมาตรการระบายสต๊อกที่ล้นตลาดโดยออกมาตรการหนุนส่งออกด้วยการเพิ่มอัตราการชดเชยภาษีสำหรับการส่งออกสินค้าเหล็กอีก 3% (เพิ่มจาก10% เป็น 13%) นับแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้าน Nippon Steel Corp ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของญี่ปุ่น และอันดับ 3 ของโลก และ JFE Steel ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น และอันดับ 8 ของโลก ต้องออกมาประกาศปิดเตาถลุงเหล็กบางส่วนลง หลังจากผลกระทบของความต้องการใช้เหล็กทั่วโลกที่ชะลอตัว
ขณะที่ Arcelor Mittal กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเหล็กอันดับ 1 ของโลก มีการปรับลดการผลิตเหล็กของโรงงานในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เช่น ในสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ สหภาพยุโรป ซึ่งโรงเหล็กบางแห่งในสหรัฐฯ จำเป็นต้องประกาศลดพนักงานลง เช่นเดียวกับ Teranis ที่ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 900 ตำแหน่งจากโรงงานในสหรัฐฯ หรือแม้แต่ ThyssenKrupp ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ในเยอรมนี ประกาศแผนปรับโครงสร้างจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 โดยวางแผนปลดพนักงานราว 3,000 ตำแหน่ง
โรงเหล็กในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในอินเดีย ตุรกี อังกฤษ ฟินแลนด์ ออสเตรีย แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย ที่ปรับลดการผลิตลงจากผลกระทบของความต้องการใช้เหล็กที่หดตัวและผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown)จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตเหล็กในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯเสนอขอมาตรการช่วยเหลือรับมือผลกระทบ โดยสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กของยุโรป (Eurofer) ได้ยื่นจดหมายต่อสหภาพยุโรป (EC) ขอให้พิจารณามาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กในภูมิภาคอยู่รอด ในช่วงที่ต้องเผชิญ โจทย์ยากอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตเหล็กได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง จากต้องลดการผลิตลงอย่างมาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Eurofer ต้องการให้สหภาพยุโรปทบทวนมาตรการจำกัดการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น เพิ่มเติมจากมาตรการ Global Safeguard ที่ใช้อยู่ รวมถึงการพิจารณามาตรการฉุกเฉินจำกัดการนำเข้า ซึ่งได้รับอนุญาตให้สามารถใช้ได้ตามข้อตกลง Article XXI ของความตกลง GATT 1994 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นสำหรับการปกป้องผลประโยชน์ทางความมั่นคง (Security Exceptions) เนื่องจากมาตรการ Global Safeguard ที่ใช้อยู่ไม่ครอบคลุมสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา (undeveloped countries) ซึ่งรวมถึงการนำเข้าจากประเทศจีน รัสเซีย และบราซิลด้วย
จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้ล่าสุดประธานาธิบดีตุรกีได้ลงนามในประกาศเพื่อปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กหลายรายการ โดยกลุ่มบิลเล็ต เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ เหล็กกล้าไร้สนิม เหล็กโครงสร้างรูปพรรณและเหล็กเส้นจะปรับภาษีนำเข้าเพิ่ม 5% จากอัตรา 9-15% เป็น 14-20%
ส่วนสินค้าท่อเหล็กปรับภาษีนำเข้าเพิ่ม 2% จากอัตรา 6-7% เพิ่ม เป็น 8-9% โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยตุรกีซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 8 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกประสบปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าเหล็กอย่างรุนแรงในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเหล็กแผ่นที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 25.5%ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าของสหรัฐฯ (AISI) และอีก 4 สมาคมเหล็กของสหรัฐฯ ขอให้สภาคองเกรสบรรจุแพ็กเกจการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจาก โควิด-19 ในระยะต่อไป เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การฟื้นฟูประเทศ โดยแพ็กเกจโครงสร้างพื้นฐานด้านการลงทุนที่วางแผนล่วงหน้าและมีประสิทธิภาพในระยะยาวจะส่งผลบวกอย่างมากในการสร้างงานและการเร่งการฟื้นตัวของประเทศ โดยขอให้รวมถึงการใช้วัสดุเหล็กและงานแปรรูปเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ
ไม่เพียงแต่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่รับศึกหนักในอุตสาหกรรมเหล็ก แม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่ก็หนีไม่พ้นพิษโควิด จะต่างกันก็เพียงแต่การลงมารับมือให้ทันต่อสถานการณ์ของไทยยังอยู่ในโหมดล่าช้าเช่นเดิม ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กหลายรายในตลาดโลกเริ่มออกมาตื่นตัวที่จะรับมือบรรเทาปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว ด้วยเพราะเหตุผลที่อุตสาหกรรม"เหล็ก"คืออุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563