การผลัดใบใน ‘วังบางขุนพรหม’ (1)

23 พ.ค. 2563 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2563 | 09:23 น.

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสตัวจิ๋ว “โควิด-19” สิ่งที่ต้องจับตาอย่างยิ่งคือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั่นคือการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนใหม่ มาแทน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบันที่จะครบวาระในเดือนกันยายนนี้

ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย บัญญัติว่า ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งผู้ว่าการธปท. ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่งจํานวน 7 คน เพื่อทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการเป็นจํานวนไม่น้อยกว่า 2 คน และให้รัฐมนตรีก่อนครบวาระเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน

นั่นหมายความว่าไม่เกินวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ เราจะได้เห็นชื่อผู้ว่าการธปท.คนใหม่

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.จะกลับเข้ามาเป็นผู้ว่าธปท.อีกครั้งไม่ได้ เพราะตามกฎหมายธปท.กำหนดให้ผู้ว่าการธปท.มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 5 ปีนับแต่วันที่ทรงแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งได้อีกไม่เกิน 1 วาระ

 

การผลัดใบใน ‘วังบางขุนพรหม’ (1)

 

คณะกรรมการคัดเลือกได้มีการประชุมและมีมติให้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก และมีมติให้ธปท.และกระทรวงการคลัง ผู้ที่เห็นว่ามีความเหมาะสมจะก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการธปท.มาฝั่งละ 2 คน พอให้คณะกรรมการคัดเลือกรายชื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา

 

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมา 7 คน ประกอบด้วย 1. นางอรรชกา สีบุญเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง 3. นายชัยวัตน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

4.นายนริศ ชัยสูตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 5. นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 6. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ 7. นางจันทรา บูรณฤกษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

เมื่อดูคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธปท. ตามกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร ส่วนในด้านการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าการธปท. มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ ธปท.

นอกจากนี้ ผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าการธปท.จะต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

1. มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง

2. เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

3. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

4. เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

5. เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง

6. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

7. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

. เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ 9. เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของธปท.

ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่ามีใครบ้างที่จะถูกเสนอชื่อเข้าเป็นผู้ว่าการธปท.คนใหม่ 

 

คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,577 หน้า 10 วันที่ 24 - 27 พฤษภาคม 2563