การผลัดใบในวังบางขุนพรหม โฉมหน้าผู้ว่าธปท.คนใหม่ กับภารกิจที่ท้าทาย

31 พ.ค. 2563 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2563 | 12:42 น.

ตอนที่แล้วผู้เขียนได้เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั่นคือการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ มาแทน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 30 กันยายน 2563 นี้

ถึงนาทีนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ดร.วิรไท สันติประภพ จะไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกการดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ด้วยเหตุผลด้านครอบครัว

“ตามที่ได้มีประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับคัดเลือกให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2563 แจ้งว่าไม่ขอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกการดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ด้วยเหตุผลด้านครอบครัว ทั้งนี้ นายวิรไทจะดูแลให้การส่งมอบงานแก่ผู้ว่าการคนใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น” เฟซบุ๊กเพจ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ระบุ

หลายคนกำลังจับตาดูว่าผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าการธปท.คนใหม่ ต่อจากดร.วิรไท เป็นใคร

หากดูจากขั้นตอนการคัดเลือกผู้ว่าธปท. ตามกรอบที่คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กำหนด พบว่า จะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม-16 มิถุนายนนี้ และจะมีการประชุมคณะกรรมการ เพื่อเปิดซองผู้สมัครพร้อมกันวันที่ 18 มิถุนายน และเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ปลายเดือนมิถุนายน เมื่อได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม 2 คนขึ้นไป จะนำชื่อเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังวันที่ 2 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาต่อไป

นั่นหมายความว่าภายใน 16 มิถุนายนนี้จะเห็นรายชื่อผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าธปท. และจะทราบว่าใครจะก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าธปท.คนต่อไป

ตามกรอบการสรรหาผู้ว่าการธปท.คนใหม่นั้น มีข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลังและธปท.ว่า ธปท.และกระทรวงการคลัง จะเสนอรายชื่อผู้ที่เห็นว่ามีความเหมาะสมจะก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการธปท.มาฝั่งละ 2 คน เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกรายชื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ฝั่งละ 1 คน

 

คาดหมายกันว่า รายชื่อผู้ที่จะถูกเสนอเข้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าการธปท.คนใหม่ในฝากฝั่งของธปท. จะประกอบด้วย “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” รองผู้ว่าการด้านบริหาร และ “ดร.เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน

สำหรับ “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” เมื่อดูจากประวัติการทำงานพบว่า เขาเติบโตมาจากสายตลาดการเงินและนโยบายการเงิน เคยรับผิดชอบส่วนตลาดการเงิน ฝ่ายการธนาคาร เคยเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.สายนโยบายการเงิน

“ไพบูลย์” จบการศึกษา หลักสูตร AMP (Advanced Management Program), Harvard Business School

- Master of Business Administration (MBA) สาขา Finance, University of Chicago Graduate School of Business

- BSc Econ (Monetary Economics), London School of Economics and Political Science, University of London

อย่างไรก็ตามนายไพบูลย์ได้บอกกับคนใกล้ชิดว่าไม่ต้องการลงสมัครรับการสรรหาเข้าเป็นผู้ว่าธปท.ในครั้งนี้ 

ขณะที่ “ดร.เมธี สุภาพงษ์” เติบโตมาจากสายนโยบายการเงินโดยตรง ในปี 2553-2557 เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงินสายนโยบายการเงิน ก่อนขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินในปี 2557จากนั้นอีก 1 ปีก็ก้าวขึ้นเป็นรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน

“ดร.เมธี” จบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์การเงิน London School of Economic and Political Sciences University of London, U.K. ปริญญาโท บริหารธุรกิจ สถาบันศศินทร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา Center for Development Economics, Williams Collage ประเทศสหรัฐฯ

อีกคนหนึ่งที่ต้องจับตาว่าจะลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าการธปท. ครั้งนี้ด้วยหรือไม่ นั่นคือ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในกรรมการนโยบายการเงิน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะลงสมัครชิงเก้าอี้นี้หรือไม่

“ดร.เศรษฐพุฒิ” จบการศึกษา Ph.D. (Economics), Yale University สหรัฐอเมริกา M.Phil. (Economics), Yale University สหรัฐอเมริกา B.A. (Highest Honors) (Economics), Swarthmore College สหรัฐอเมริกา

“ดร.เศรษฐพุฒิ" เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานใกล้ชิดกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมามีการเสนอให้“ดร.เศรษฐพุฒิ" เข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลหลายครั้งแต่เขาก็ปฏิเสธมาตลอด ครั้งนี้จึงต้องจับตาว่า“ดร.เศรษฐพุฒิ" เขาจะสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าธปท.หรือไม่

ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นโฉมหน้าผู้ที่คาดหมายกันว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าการธปท.คนใหม่กันแล้ว

แต่อย่างไรก็ตามในท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสตัวจิ๋ว โควิด-19 นอกจากผู้ว่าการธปท.คนใหม่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคารแล้ว คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการ คือ จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจระบบหรือกระบวนการทำงานภายในธปท.อย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆทางด้านการเงินเป็นไปด้วยความราบรื่น นำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,579 หน้า 10 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2563