คดี“บอส อยู่วิทยา” ช่องโหว่ กระบวนการยุติธรรม

06 ส.ค. 2563 | 07:39 น.

คดี“บอส อยู่วิทยา” ช่องโหว่ กระบวนการยุติธรรม : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3598 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค.2563

 

เป็นไปตามคาด คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” ของสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงเมื่อ 4 ส.ค. 2563 สรุปว่า การสั่งคดีของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ถูกต้องแล้ว เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนด ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน หรือใช้ดุลยพินิจสั่งคดีตามอำเภอใจ

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชุดอัยการเห็นว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด แม้หลังมีคำสั่งไม่ฟ้องและต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งดังกล่าว เป็นผลให้คดีมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายไปแล้ว เพราะมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี 2 ประเด็น ที่ไม่ปรากฏในสำนวน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ตม.ยัน"บอส"เข้าไทยได้ แต่ยังไม่พบกลับเข้าประเทศ
คืนความศักดิ์สิทธิ์กฎหมาย กอบกู้กระบวนการยุติธรรม
รื้อคดี “บอส อยู่วิทยา” ความหวังอยู่ที่ “หลักฐานใหม่”
ศรีสุวรรณจี้ ป.ป.ช.เอาผิดตำรวจ สั่งไม่ฟ้องมีโคเคนจากทำฟัน“บอส อยู่วิทยา”
ชูวิทย์ ชี้ "คดีบอส อยู่วิทยา" เรื่องมันจบไปแล้ว
ไว้อาลัยขบวนการอยุติธรรม คดีอัปยศ “ตร.-อัยการ”

 

 

ประเด็นแรกคือ การตรวจพบสารประเภทโคเคนในเลือด ซึ่งความผิดตามกฎหมายยาเสพติด มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี อายุความตามกฎหมาย 10 ปี อีกประเด็นคือเรื่องความเร็วรถ จากการคำนวณของดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และคำนวณความเร็วรถผู้ต้องหา ว่าแล่นด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คณะทำงานจะทำความเห็นเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป ทำให้คดีบอสขับรถชนตำรวจตายกลับไปอยู่ในมือของตำรวจอีกครั้ง

ในการแถลงคณะทำงานอัยการรับว่า มีจุดอ่อนหรือช่องโหว่จากคดี “บอส วรยุทธ” ครั้งนี้ คือกรณีฝ่ายจำเลยร้องขอความเป็นธรรมถี่ยิบและทุกช่องทาง จึงเสนอให้มีการวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ว่าจะให้ดำเนินการได้กี่ครั้งในขั้นตอนใด

อย่างไรก็ตามสังคมยังคงมีประเด็นคาใจจากคดี “บอส วรยุทธ” 2-3 ประเด็น

1.เมื่อเห็นหลักฐานไม่พอฟ้อง ทำไมอัยการไม่สั่งพนักงานสอบสวนตั้งคดีเสพโคเคน-ขับรถเร็วเกินกำหนดเสียแต่แรก

2.ความเห็นผู้เชี่ยวชาญที่อัยการบอกว่าให้น้ำหนักเพราะแจ้งผลคำนวณความเร็วรถได้เป็นหลักทศนิยม ทั้งที่ควรอ้างอิงหน่วยงานราชการหรือสถาบันที่น่าเชื่อถือมากกว่าตัวบุคคล

3.ที่น่าตกใจคือเทคนิคในคดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้การร้องขอความเป็นธรรมเป็นเทคนิคยื้อเวลา หรือเทคนิคให้หลุดข้อหาเมาแล้วขับรถชนคน ถ้าไม่ถูกจับทันทีให้ดื่มเหล้าอย่างหนัก เพื่อว่าเมื่อคำนวณย้อนกลับถึงตอนเกิดเหตุจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงระดับไม่มีสัมปชัญญะ เพื่อตอกย้ำข้อต่อสู้ว่า “เมาหลังขับ” 

สิ่งที่สังคมคาดหวังเวลานี้ ไม่เพียงให้คดี “บอส วรยุทธ” ได้เข้าสู่กระบวนการทางศาลเพื่อชี้ขาดให้เป็นที่ยุติเท่านั้น แต่ถึงเวลาต้องแก้จุดอ่อนอุดช่องโหว่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ