ยุติธรรมอำพราง “คดีบอส” ฟ้าผ่าใส่ “สำนักงานอัยการ”

12 ส.ค. 2563 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2563 | 12:35 น.

ยุติธรรมอำพราง “คดีบอส” ฟ้าผ่าใส่ “สำนักงานอัยการ” : คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3600 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 13-15 ส.ค.2563 โดย...พรานบุญ

 

ยุติธรรมอำพราง

“คดีบอส’

ฟ้าผ่าใส่“สำนักงานอัยการ”

 

     พยากรณ์จาก “คุรุด้านกฎหมาย” ผู้พิสมัยตำราโหราศาสตร์และดวงดาวทำนายว่า ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป พายุลูกใหญ่ตั้งเค้าดาหน้าพัดมาถล่มใส่สำนักงานอัยการสูงสุด องค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ “รักษากฎหมาย และการเป็นทนายแผ่นดิน”
 

     คุรุท่านนี้ทำนายลงไปว่า แม้ตราสัญลักษณ์ขององค์กรนี้จะมีรูป พระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานเหนือพระแว่นพระสุริยกานต์ และตราชูรูปพระขรรค์รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์นั้น มีความหมายถึงอำนาจหน้าที่ในการเป็น ทนายแผ่นดิน การใช้กฎหมายด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม และเด็ดขาด ให้มีชัยชนะเหนืออธรรม...
 

     ทว่าบารมีอำนาจหน้าที่ขององค์กรนี้ มิอาจทานพายุแห่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชน ผู้คนในสังคม ที่ล้วนแล้วแต่ตกตะลึง และพร้อมจะออกมาถล่มต่อการตัดตอน “วรยุทธ อยู่วิทยา” หรือ “บอส กระทิงแดง” ให้พ้นผิดด้วยคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง จากคดีชนตำรวจตายและหลบหนีหายไป 8 ปี
 

     สำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน พิจารณาสั่งคดีขึ้นสู่ศาล และต่อสู้คดีในนามของรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐ ตามหลักนิติรัฐ
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ก.อ.จ่อออกระเบียบสอบ“เนตร นาคสุข”สั่งไม่ฟ้อง“บอส อยู่วิทยา”

“พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ” ส่งเอกสารชี้แจงคดี“บอส อยู่วิทยา”จันทร์นี้

“แก้วสรร”ตั้งข้อสังเกตจุดจบคดี"บอส อยู่วิทยา”

คดี “บอสกระทิงแดง” พลิก “อัยการ” แตกยับ
 

     ในทางปฏิบัติ อัยการสูงสุดมีอิสระเต็มที่ในการสั่งคดี จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะอุทธรณ์ ฎีกา หรือไม่ คำสั่งของอัยการถือเป็นเด็ดขาด ดูเหมือนจะมีอำนาจทางอ้อมในเรื่องคดีที่เหนืออำนาจตุลาการเสียแล้ว เพราะถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง เหมือน “คดีบอสกระทิงแดง” คดีก็ไปไม่ถึงศาล เพราะถูกอัยการ “ตัดตอน” เสียก่อนในต้นทางแห่งกระบวนยุติธรรม

     พรานผู้ท่องไพร ลิง ค่าง บ่าง ชะนี และอีเห็น ที่นั่งเงี่ยหูฟังคำทำนายตกตะลึงในพายุใหญ่แห่งความไม่ไว้วางใจของประชาชนว่าจะออกฤทธิ์มากขนาดนี้
 

     คุรุด้านโหราพยากรณ์ชี้ให้ดูดวงดาวที่โคจรมารายล้อมสำนักงานอัยการสูงสุด ดังนี้....
 

     7 สิงหาคม 2563 อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการอัยการ (ประธาน ก.อ.) ได้หารือกันเป็นการส่วนตัวกับ “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด เพื่อหารือกรณีที่ นายอรรถพล ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความถึงอัยการสูงสุดในประเด็นเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมที่ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กลับคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกระทิงแดงว่า ชอบหรือไม่?
 

     บรรยากาศการพูดคุยกันยาวนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง จิ้งจกตัวใหญ่บอกว่า เป็นการถกเรื่องว่า ประชาชนมีความแคลงใจว่า สำนักงานอัยการสูงสุดจะมีการฟอกขาวเพื่อช่วยเหลือใครหรือไม่...
 

     การใช้ดุลพินิจของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายบอส กระทิงแดง ควรจะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบวินัยหรือไม่...
 

     ตอนแรกคุยกันแค่ประธานคณะกรรมการอัยการ กับอัยการสูงสุด 2 คน แต่ตอนหลังถกกันยังงัยไม่รู้ มาเป็นการรุม เพราะมีการเชิญรองอัยการสูงสุดทั้งหมด และคณะทำงานตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องมาคุยแบบเคลียร์ใจกันแบบยกทีม...
 

     ก่อนจะมีมติและบันทึกร่วมกันว่า ประธานคณะกรรมการอัยการและอัยการสูงสุด จะเรียนเชิญ อดีตอัยการสูงสุด และอดีตรองอัยการสูงสุด มาเป็นกรรมการสอบการใช้ดุลพินิจของ นายเนตร รองอัยการสูงสุดที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ คนที่เชิญมาจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่อัยการและประชาชนเห็นต้องเชื่อถือ ไปถกกันวันที่ 18 สิงหาคม
 

     จิ้งจกตัวใหญ่บอกว่า พี่ใหญ่-อรรถพล กับ น้องวงศ์-วงศ์สกุล ล้วนเสียงแข็ง ยืนกรานในสิ่งที่ตัวเองคิด เพราะรักองค์กรที่ทำงานมาเหมือนกัน...แต่ยังมองกันคนละทาง โดยเฉพาะประเด็นที่ อรรถพล ในฐานะประธาน ก.อ.ทำความเห็นไปว่า เรื่องร้องขอความเป็นธรรมที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของนายเนตร นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในที่สุดทาง วงศ์สกุล อัยการสูงสุด จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาความเห็นของประธาน ก.อ.ที่ยื่นส่งไป 1 ชุด โดยมอบให้ ไพบูลย์ ถาวรวิจิตร รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
 

     18 สิงหาคม 2563 การประชุม ก.อ.จึงเดือดปุดๆ แน่! แม้มิอาจรู้หมู่หรือจ่า...ว่ามติในการแก้ปัญหาความเสื่อมศรัทธาของประชาชนในการนำคดีใหญ่ของคนที่เงินหนา ปาเป้าเก่ง ไปไม่ถึงศาลจะออกมาแบบไหน...
 

     คุรุพามาดูรายชื่อคณะกรรมการอัยการชุดปัจจุบันที่จะต้องทำหน้าที่ 1.พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการ 2.การพิจารณาดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการอัยการที่กระทำผิดระเบียบ 3.พิจารณาออกระเบียบบริหารงานบุคคลอัตรากำลังข้าราชการฝ่ายอัยการ แล้วจะเห็นเค้าลาง
 

     อรรถพล เป็นประธานกรรมการอัยการ ที่มาจากการลงคะแนนเลือกมาอย่างท่วมท้น 1,810 คะแนน จากบัตรลงคะแนนทั้งสิ้น 3,061 ใบ ชนะคู่แข่งอันดับสอง พชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูสุดที่ได้ไป 1,036 คะแนน

     กรรมการอัยการที่มาจากการดำรงตำแหน่งและอาวุโส 6 คนประกอบด้วย 1.วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นรองประธานกรรมการอัยการ 2.เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด  3.สมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด 4. สาวิตร บุญประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุด 5.สุริยะ แบ่งส่วน รองอัยการสูงสุด 6. ร้อยโท ไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด เหลือรองอัยการสูงสุดที่ไม่เป็นกรรมการ ก.อ.แค่ 3 คนเท่านั้น
 

     กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 18 (5) คนแรกคือ พิมพร โอวาสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
 

     คนที่สองคือ ไพรัช วรปาณิ อดีตกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 สมัย และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามา
 

     ไพรัช เป็นกรรมการอัยการมาตั้งแต่ปี 2552 แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนอัยการสูงสุดมาแล้ว 4 คน ตั้งแต่ยุค จุลสิงห์ วสันตสิงห์ จนถึงยุควงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ (1 ต.ค. 2562 -ปัจจุบัน) จึงรู้เส้นสนกลในดีสุด
 

     กรรมการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลือ มาจากการเลือกและลงคะแนน ประกอบด้วย 1.ประสาน หัตถกรรม อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการสมาคมข้าราชการฝ่ายอัยการ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิอัยการ 2.กิตติ ไกรสิงห์ อดีตรองอธิบดีอัยการภาค 6 อดีตอัยการศาลสูง 3.ชาตรี  สุวรรณิน อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี อดีตผู้ตรวจการอัยการสูงสุด เคยเขียนเอกสารวิจัยเรื่อง “การชะลอฟ้อง” และ “ปัญหาการบังคับคดีชั้นอัยการในการบังคับโทษปรับ”
 

     กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิคนต่อไป 4.ปรเมศวร์  อินทรชุมนุม เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5.สิงห์ชัย  ทนินซ้อน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา 6.ชาติพงษ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ทั้ง 3 คนนี้ล้วนแล้วแต่ถูกตั้งเป็น 1 ในคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีบอสกระทิงแดง แล้วยืนยันว่า การสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบอสกระทิงแดงทำถูกขั้นตอน...
 

     เห็นข้อมูลแบบนี้ นังบ่าง อีเห็น...บอกได้ทันทีว่า คะแนนเสียงตอนนี้ฝ่ายบริหารที่เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบ นำมา 9 คะแนน ส่วนที่เหลืออีก 6 คนนั้นไม่แน่ว่าจะยืนในฝั่งอรรถพล ประธาน ก.อ.ที่เห็นว่าคำสั่งไม่ชอบ
 

     แต่อย่าชะล่าใจไป การแต่งตั้งคนไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานอัยการสูงสุด ที่รอการพิจารณาของคณะกรรมการ ก.อ.ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้ยังอยู่ในมือของ 2 ฝ่าย
 

     ข้อกำหนดให้ตั้งตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด รองเลขาธิการฯ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ และดำเนินการยุบสำนักอัยการนโยบาย ยุทธศาสตร์และงบประมาณ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นั้น อาจมีผลให้ “โหวตเตอร์ในมือของ คณะกรรมการ ก.อ.” เปลี่ยนไปก็ได้ ใครจะรู้
 

     ผ่างๆ คำสั่งชอบ-คำสั่งไม่ชอบ จะชี้ชะตาเบิกเนตรและรื้อสำนักงานอัยการสูงสุดกันในวันที่ 18 สิงหาคมนี้!