เวียดนามกลายเป็นประเทศที่น่าจับตาหลายเรื่องทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ การดึงเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเวียดนามให้น้ำหนักมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เดินตามหลังไทย ตอนนี้กลายเป็นวิ่งแซงหน้าไทยไปแบบทิ้งช่วงห่างแล้วหลายด้าน
เห็นได้ชัดเจนกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของเวียดนามที่แซงหน้าประเทศไทย ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้เหล็กสูงสุดในอาเซียน 4 ปีต่อเนื่อง โดยความต้องการใช้เหล็กของเวียดนามปี 2563 ประมาณ 25 ล้านตัน โตขึ้น 2.8% จากปี 2562 เทียบความต้องการใช้เหล็กของไทย ปี 2563 ประมาณ 17 ล้านตัน ลดลง 6% จากปี 2562
หากมองในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในอาเซียนเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีความคืบหน้าในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตเหล็กต้นน้ำ เช่น โรงถลุงเหล็กและเตา BOF (Basic Oxygen Furnace) แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี ดังนั้นขีดความสามารถในการพัฒนาเหล็กเกรดพิเศษ เพื่อรองรับอุตสาห กรรมต่อเนื่องขั้นสูงที่ต้องใช้เหล็กเกรดพิเศษจึงเกิดขึ้นได้ยาก
ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กต้นน้ำ ซึ่งใช้กระบวน การผลิตแบบ EAF (Electric Arc Furnace) และ IF (Induction Furnace) เท่านั้น ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ต้องวางแผนให้รอบคอบเหมาะสม ถ้าประเทศไทยจะพัฒนาไปในทิศทางอุตสาหกรรมก้าวหน้า ควรเน้นส่งเสริมการผลิตเหล็กต้นน้ำ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ยังร่วมสมัยและประเทศส่วนใหญ่นิยมกันอยู่ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตเหล็กต้นน้ำของประเทศต่างๆ ในโลก ที่นิยมและยอมรับกันมากที่สุด คือกระบวน การผลิตแบบ BOF สัดส่วน 48% และกระบวนการผลิตแบบ EAF สัดส่วน 48% ในขณะที่มีการใช้กระบวนการผลิตแบบ IF ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ตกยุคไปแล้ว มีสัดส่วนเพียงแค่ 2% เท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลโดย OECD (Orga nisation for Economic Co-Ope ration and Development) ระบุว่า ในด้านกำลังการผลิตเหล็กดิบ (Crude Steel) ของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน อันดับ 1 คือเวียดนาม 23.5 ล้านตันต่อปี, อันดับ 2 มาเล เซีย 14.2 ล้านตันต่อปี และอันดับ 3 คือ ไทย 9.9 ล้านตันต่อปี
เห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศเวียดนาม ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ในแง่ปริมาณการบริโภคเหล็ก และกำลังการผลิตเหล็กมากที่สุด ตั้งแต่ปี 2560 โดยในปี 2563 นี้ คาดว่าเวียดนามจะมีการบริโภคเหล็กทุกชนิดรวมกันราว 25 ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทยการบริโภคเหล็กจะถดถอยลงเหลือราว 17 ล้านตัน ทั้งที่ระยะเวลาในการรุกไปสู่อุตสาหกรรมเหล็กเกิดขึ้นยาวนานกว่าหลายประเทศในอาเซียน
มาถึงวันนี้ต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่สามารถรักษาความเป็นผู้นำในด้านนี้เอาไว้ได้ จากที่ไทยเคยเป็นแชมป์อาเซียน ผลิตเหล็กภายในประเทศเป็นปริมาณสูงสุดในอาเซียนมาตลอด แต่ด้วยประเทศเพื่อนบ้านซึ่งภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กที่ชัดเจนและจริงจังจนอุตสาหกรรมเหล็กเติบโตเร็วมาก ทำให้เวียดนามซึ่งเดินตามหลังไทยในอุตสาหกรรมเหล็ก กลับแซงไทยขึ้นมาเป็นอับดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2562
ตามมาติด ๆ อินโดนีเซียขึ้นมาเป็นอันดับสองในปี 2561 และประเทศไทยตกไปเป็นอันดับสาม โดยคาดว่าปี 2563 นี้ จะมีการผลิตเหล็ก Finished Steel ในประเทศเพียง 7 ล้านตัน โดยมีการนำเข้าสินค้าเหล็กราว 10 ล้านตัน
อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของไทย ดังนั้น เราจะยอมจำนนปล่อยให้เดินไปถึงทางตันไม่ได้ ปัจจุบันประเทศไทยก็พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเหล็กมากถึง 2 ใน 3 ของการบริโภคเหล็กของประเทศอยู่แล้ว
ดังนั้นอุตสาหกรรมเหล็กกับ New normal หลังโควิด ก็ควรจะถึงเวลาที่ภาครัฐต้องเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ดูความจำเป็น ความเหมาะสม ผลิตภัณฑ์ที่มีกำลังการผลิตมากเกินจำเป็น อาจต้องให้มีการตัดกำลังการผลิตดังกล่าว โดยเฉพาะการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ยังพึ่งการนำเข้าจำนวนมาก เช่น เหล็กสำหรับเป็นส่วนประกอบรถยนต์ เหล็กสำหรับ S-Curve เช่น เครื่องมือแพทย์ อากาศยาน ต้องมีการส่งเสริมให้ผลิตและใช้เหล็กภายในประเทศอย่างเร่งด่วน
หากไทยยังต้องพึ่งพาเหล็กนำเข้ามากขึ้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและความมั่นคงของชาติ จึงไม่ใช่เป็นแค่ภารกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องต่อสู้ ดิ้นรนในเชิงธุรกิจและการค้าเท่านั้น อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหนักที่มีมูลค่าการลงทุนสูง และเหล็กเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ต่อความมั่นคงของประเทศด้วย
ดังนั้นภาครัฐไม่ควรละเลย แต่ต้องมีการกำหนดทิศทางที่แน่ชัดเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเหล็กสามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นฐานช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อไป
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563