จีนพัฒนา“เซินเจิ้น”จากเกษตรกรรมชนบทสู่เมืองที่มีชีวิตชีวา

29 ส.ค. 2563 | 05:29 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2563 | 12:37 น.

จีนพัฒนาเมืองเซินเจิ้น จากเขตเกษตรกรรมในชนบทที่ล้าไปสู่เมืองที่มีชีวิตชีวา มีความเป็นสากล จน GDP เพิ่มสูงขึ้น


วันนี้(29 ส.ค.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาเมืองเซินเจิ้น  จากเขตเกษตรกรรมในชนบทที่ล้าหลังไปสู่เมืองที่มีชีวิตชีวาและมีความเป็นสากล รวมทั้งมีนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP เพิ่มสูงขึ้นจากระดับที่น้อยกว่า ๒๐๐ ล้านหยวน เป็นเกือบ ๒.๗ ล้านล้านหยวน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้  


 ๑.“การพัฒนาของเมืองเซินเจิ้น นับเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้วย” จนเป็นที่ยอมรับกันว่า "ไม่มีเมืองใดในโลกที่สามารถตามความเร็วในการพัฒนาของเซินเจิ้นได้ ซึ่งนี่คือประตูสู่โลกทางใต้ของจีน"
ทั้งนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประเมินค่าอย่างสูงต่อผลสำเร็จด้านการพัฒนาของเมืองเซินเจิ้น และได้วางแผนชี้นำการพัฒนาของเมืองเซินเจิ้นในยุคใหม่หลายครั้ง กล่าวคือ   


     ๑.๑ เมื่อปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) เซินเจิ้นได้เริ่มปรับปรุงตัวเองจากการแปรรูปและการค้าไปยังธุรกิจไฮเทค และเมื่อปี ๒๐๐๘ – ๒๐๐๙ (พ.ศ.๒๕๕๑ - ๒๕๕๒) เซินเจิ้นเริ่มส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ โดยปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) เริ่มฟูมฟักอุตสาหกรรมแห่งอนาคตชนิดต่างๆ เช่น สุขภาพ อุปกรณ์สวมพกติดตัวเป็นต้น ปัจจุบัน เซินเจิ้นได้ก่อสร้างสถานีฐาน 5G จำนวนกว่า ๔๖,๐๐๐ แห่ง ซึ่งสามารถให้บริการ 5G ครอบคลุมทั้งเมืองด้วยเครือข่ายอิสระ นับเป็นเมือง 5G แห่งแรกของโลกก็ว่าได้ 


     ๑.๒ เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) และ ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อดำเนินการสำรวจและศึกษาค้นคว้าที่เมืองเซินเจิ้น โดยเน้นว่า เซินเจิ้นต้องยึดการปฏิรูปและเปิดประเทศอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อไป ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๒ จนถึงปัจจุบัน มีอุตสาหกรรมนิวไฮเทคร่วมสมัยมากมายได้ไปตั้งรากฐานและออกดอกออกผลที่เมืองเซินเจิ้น โดยเฉพาะการทำให้ขีดความสามารถด้านการนวัตกรรมของเซินเจิ้นทางด้าน  5G  เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น 


     ๑.๓ เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) พบว่า งบการลงทุนด้านการค้นคว้าวิจัยของเซินเจิ้นมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวม โดยมีจำนวนวิสาหกิจนิวไฮเทคระดับชาติถึง ๑๔,๔๐๐ แห่ง และผลงานลิขสิทธิ์สากลเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า ๖๐ รายการ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การริเริ่ม รวมทั้งการวางแผนและผลักดันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยเมื่อวันที่ ๑๘ ส.ค.๖๒  “ความเห็นว่าด้วยการสนับสนุนเซินเจิ้นในการสร้างเขตทดลองนำร่องสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน” ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ จึงนับเป็นโอกาสเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองเซินเจิ้นอีกครั้ง ต่อจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 


   

       ๑.๔ เมื่อถึงปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘) คาดว่า พลังเศรษฐกิจและคุณภาพการพัฒนาของเมืองเซินเจิ้นจะอยู่ลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการลงทุนด้านการค้นคว้าวิจัยและขีดความสามารถด้านการนวัตกรรมของอุตสาหกรรมจะอยู่แถวหน้าของโลก รวมทั้งพลังทางวัฒนธรรมก็ได้รับการยกระดับสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่ระดับการบริการสาธารณะและคุณภาพสิ่งแวดล้อมตลอดจนระบบนิเวศก็ก้าวไปถึงระดับนำหน้าของโลก โดยได้รับการพัฒนาเป็นเมืองทันสมัยเชิงสร้างสรรค์ระดับโลก 


     ๑.๕ เมื่อถึงปี ค.ศ.๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) เมืองเซินเจิ้นจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแบบอย่างของทั่วประเทศในด้านการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง มีกำลังการแข่งขันรวมทางเศรษฐกิจของเมืองนำหน้าทั่วโลก และเป็นมหานครแห่งการนวัตกรรม รวมถึงการประกอบธุรกิจและมีความคิดสร้างสรรค์ที่มีอิทธิพลในทั่วโลก โดยกลายเป็นเมืองต้นแบบของจีนในการสร้างสรรค์ประเทศเข้มแข็งทันสมัยแห่งสังคมนิยม  


     ๑.๖ เมื่อถึงกลางศตวรรษที่ ๒๑ (ราวปี ค.ศ.๒๐๕๐ หรือ พ.ศ.๒๕๙๓) เมืองเซินเจิ้นจะยืนอยู่บนโลกใบนี้ในฐานะเป็นเมืองที่ก้าวหน้าทันสมัยของโลกด้วยภาพลักษณ์ที่สง่างามยิ่งขึ้น กลายเป็นเมืองเชิงสัญลักษณ์ของโลกที่มีอิทธิพลโดดเด่นในด้านบทบาท รวมทั้งกำลังขีดความสามารถแข่งขันและการนวัตกรรม
 
 

 

๒. ในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา เซินเจิ้นได้สร้างการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  โดยใช้ความพยายามในการสร้างสรรค์บรรยากาศประกอบธุรกิจแบบตลาด มีระบบกฎหมายแบบสากล ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพการพัฒนาให้มากขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยความใจกว้าง ด้วยการมอบโอกาสการพัฒนาให้กับทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการ "พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและส่งเสริมความทันสมัยของสังคมนิยม"  ซึ่งนับตั้งแต่ปี ๑๙๙๓ (พ.ศ.๒๕๓๖) เป็นต้นมา เซินเจิ้นได้ครองความเป็นอันดับหนึ่งของจีนด้านยอดมูลค่าการค้าต่างประเทศ 


บทสรุป ปัจจุบัน เซินเจิ้นได้รับภารกิจทางประวัติศาสตร์ใหม่  ในการมุ่งมั่นที่จะสร้างเขตสาธิตสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน โดยการส่งเสริมการปฏิรูป ในบริบทของสถานการณ์โลกที่มีความสลับซับซ้อนจากความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น ขณะที่เซินเจิ้นซึ่งมียีนแห่งความรวดเร็ว  จนมีการกล่าวกันว่า “อาคารเดียวในสามวัน” จากการก่อสร้างศูนย์การค้าเวิลด์เทรดของจีน (China World Trade Center) ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายปี ๑๙๘๕ (พ.ศ.๒๕๒๘) ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมและการเปิดกว้างด้วยการปฏิบัติที่แท้จริง โดยยืนหยัดหลักการ “การปฏิรูปอย่างไม่หยุดยั้ง และเปิดกว้างอย่างไม่มีวันจบ” อันเป็นการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ในด้านการพัฒนา  และเป็นความฝันของชาวจีนในการฟื้นฟูประชาชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างผลงานใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่า