"ปรีดี"ลาออก
รัฐบาลขาลงแล้ว
ขาลงเล่า
ไม่ใช่เหตุผลเรื่องสุขภาพ เครียดทำงานไม่ได้ ที่ ปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ยื่นใบลาออกต่อนายกรัฐมนตรีหลังทำงานได้เพียง 27 วันหรอก และก็ไม่ใช่ความขัดแย้งกับ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายระดับอธิบดี ในกระทรวงการคลัง ที่เป็นชนวนสำคัญให้ปรีดีถอดใจดอก
ต้องเข้าใจกันก่อนว่าบุคลากร มืออาชีพ พวกบรรดาเทคโนแครตจากภายนอกที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีนั้น บุคคลเหล่านี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และต้องการความเป็นอิสระในการบริหารงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ ถ้าการเมือง ฝ่ายการเมืองขอนั่น ขอนี่ ขอโน่นในสิ่งที่เขาให้ไม่ได้ หนทางถอยเป็นการดีที่สุด โดยเฉพาะปรีดี ที่ไม่ค่อยอยากเข้ามาเป็นสักเท่าไรตั้งแต่แรกๆ ที่มีการทาบทาม หรือปรากฎ เป็นข่าวแล้ว
ถ้าจะให้มีการแทรกแซง กำหนดเป้า หรือขอนั่น ขอนี่ เพื่อสนองภารกิจการเมืองนั้นเขาไม่ยอม และไม่ทำให้หรอก หนทางถอยนั่นแหล่ะ คือทางที่เขาเลือก เพราะเขาไม่ได้กระสันอยากได้ใคร่ดีนั่งในเก้าอี้รมต. หรือ ลุ่มหลงในอำนาจ หรือ มนต์ขลังของเก้าอี้รมต.ที่จำต้องกอดไว้ดอก
นายกรัฐมนตรีต้องทบทวนแนวทางการบริหารงานของตนเอง ต้องให้กรณี ปรีดี ลาออกเป็นบทเรียนของตนเอง จะใช้วิธีการบริหารบุคคลแบบความเคยชินในอดีต แบบการบริหารกองทัพ มีผู้บังคับบัญชา มีคำสั่ง มีการปฏิบัติ อันนี้ไม่ใช่บริหารกองทัพ แต่เป็นการบริหารประเทศ และมีการยึดโยงจากการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง แน่นอนการจะบอกว่าก็บริหารมาตั้ง 5-6 ปีแล้ว ไม่เห็นเป็นไร ก็ทำแบบนี้มาตลอด ทำไมอยู่ได้ อาจจะเป็นความคิดที่ง่ายไป ถ้าคิดแบบนั้น
เชิญเขามาแล้ว ก็ใช่ว่าต้องสั่งซ้ายหัน ขวาหัน หรือให้นักการเมือง พรรคการเมืองสั่งให้เขาขวาหัน ซ้ายหันนั้นหาได้ไม่ แต่กลับต้องซัพพอร์ตอย่างแข็งขัน ติดขัดประการใด ในอำนาจหรือรังสีอำมหิตที่แผ่ปกคลุม นายกฯ ก็ต้องขจัดปัดเป่าให้เขา
ตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสำคัญมากๆ ในการบริหารเศรษฐกิจ สำคัญมากในการเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลที่แผ่ปกคลุมทางอำนาจเข้มแข็ง และโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลที่ไม่ได้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเอาเสียเลย
แค่คำพูดของรัฐมนตรีคลังว่าจะทำนั่น ทำนี่ จะไม่ทำนั่น ทำนี่ ส่งผลให้เกิดการได้เสียคิดเป็นเม็ดเงินมากมายมหาศาล กระทบกับตลาดแม้ไม่ได้ลงมือปฏิบัติเลย
การลาออกของรัฐมนตรีคลังที่ทำงานได้แค่ 27 วัน คำถามต้องเกิดขึ้นมากมายในตลาด ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือที่ลดน้อยถอยลงอยู่แล้วต่อรัฐบาล จะลดน้อยถอยลงไปอีก แน่นอนการลาออกของรมต.คลัง สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลลุงตู่อย่างมีนัยสำคัญ
เป็นขาลงแล้ว ขาลงเล่า!!
จริงอยู่ที่ภาคเอกชนบางราย อาจไม่กล้าให้ความเห็น เพราะเกรงใจรัฐบาล ทำได้เพียงแค่ให้ความเห็นแบบ “ไม่กระทบอะไรหรอก เพราะเพิ่งเริ่มงาน”
การสรรหาตัวรัฐมนตรีคลังคนใหม่จากนี้ไปไม่ง่าย คนอยากจะเป็นมีและมีมาก แต่เป็นได้หรือไม่ และจะเป็นได้ดีหรือไม่ ไม่รู้ โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ลงรุนแรงเหมือนพายุสึนามิฟาดกระหน่ำ
บุคลากรทางการเมืองจำกัด บุคลากรจากภาคเอกชน นักวิชาการ เทคโนแครตคิดหนักเข้าร่วม โดยไม่มีฐานการเมืองจะโดนเล่นเหมือนปรีดีหรือไม่ กระทั่ง "4 กุมาร" ที่พอมีฐานการเมืองอยู่บ้างยังเอาตัวไม่รอด มีหลักประกันอะไรว่าเข้ามาแล้วจะไม่ซ้ำรอยบุคคลเหล่านี้ และทำไมต้องมาแบกมารับแรงเสียดทานจากนักการเมืองที่มีความกระหายเป็นที่ตั้ง
นายกรัฐมนตรีอาจต้องหาวิธีใหม่ในการบริหารเศรษฐกิจ ดึงโฟกัสการแก้เศรษฐกิจมาไว้ที่ตัวเองทั้งหมด ลดบทบาทรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่นๆ ลง สรรหาทาบทามรัฐมนตรีคลังใหม่ เลือกจากข้างนอก (ซัพพอร์ตอย่างแข็งขันไม่ให้การเมืองแทรก) เอาจากนักการเมืองข้างใน กำหนดไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องเดิน
มีอีกหลายทางเลือก จะเลือกทางไหนดี ลุง!!