กันยาทมิฬ ถล่มรัฐบาลลุงตู่
*****
“มีคนมากมาย
ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
แต่มีคนเพียงน้อยนิด
ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง” เคานต์ เลฟ นีโคลาเยวิช ตอลสตอย
*****
ชีพจรประเทศไทยในเดือนกันยายน 2563 ดูเหมือนอุณหภูมิจะร้อนเป็นไฟสำหรับรัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำไมนะหรือ มาดูวาระที่ต้องเผชิญ
วันที่ 9 กันยายน จะมีการประชุมสภาฯ วาระพิเศษ เพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ โดยเป็นญัตติที่ฝ่ายค้านจะสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมือง ที่จะเปิดแผลการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล และซักถามเรื่องการเมือง
ญัตติของฝ่ายค้านระบุว่า “ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทุกด้าน ทั้ง การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุน ขณะที่ความพยายามกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เป็นไปตามประมาณการ
นอกจากนั้น ยังพบปัญหาทางการเมือง การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน
ขณะที่ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนั้น รัฐบาลกลับฉวยโอกาสใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคามและจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมากอยู่แล้วต้องตึงเครียดเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พรรคฝ่ายค้านจึงยื่นญัตติดังกล่าวเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ”
สัปดาห์ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดตัวแทนแต่ละฝ่ายหารือ โดยได้ข้อสรุปว่า ฝ่ายค้านได้เวลา 10 ชั่วโมง , ฝ่ายรัฐบาล ทั้ง ส.ส.และการชี้แจงของรัฐมนตรี ได้เวลา 5 ชั่วโมง ให้มีเวลาการทำหน้าที่ประธานสภา 2 ชั่วโมง การอภิปรายคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเที่ยงคืนของวันที่ 9 กันยายน
แม้เป็นการอภิปรายโดยไม่ลงมติ แต่นี่คือการไล่ชกเพื่อเปิดแผลรัฐบาลลุงตู่ให้เลือดซิบ หน้าเยิน หน้าบวม
เอาเฉพาะ นายโจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ประกาศผ่านทางโทรโข่งไปแล้วว่า จะนำเอาหลักฐานเด็ดเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปเปิดเผยกลางเวทีการประชุมสภา หลังจากนั้นจะไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้เกี่ยวข้อง ที่ ป.ป.ช. อีกครั้ง
ถ้านับเอาปัญหา “ปรีดี ดาวฉาย” ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากรับตำแหน่งมาแค่ 21 วัน เข้าไปอีก
ยิ่งนับเรื่องรัฐบาลถังแตก เรื่องคนตกงาน เรื่องดีแต่กู้ สารพัดที่พร้อมจะถาโถมเข้าใส่ เพื่อดิสเครดิตรัฐบาล
แม้ว่ารัฐบาลลุงตู่จะเคยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ในเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่คราวนี้หนักหน่วงกว่ากันเยอะมาก เพราะภูมิคุ้มกันรัฐบาลเริ่มบกพร่อง ฝีหนองในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง เริ่มโผล่ไปทั่ว
พ้นจากวันที่ 9 กันยายน พอถึงวันที่ 10 กันยายน จะมีวาระการพิจารณาเรื่องที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะรายงานผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็จุดเชื้อไฟพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปอีก
พักหายใจหายคอไม่ทันไร วันที่ 16-18 กันยายน จะมีการนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 เข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวาระที่ 2 และ 3 เรียกว่าได้ฤกษ์ถล่มว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาตอบโจทย์แก้ปัญหาประเทศหรือได้หรือไม่ ผมประเมินแล้วต้องขอบอกว่าร้อนแรงมากๆ
แม้ว่าการอภิปรายเรื่องงบประมาณนั้น ในทางปฏิบัติรัฐบาลชนะขาดแน่เพราะแพ้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงิน พ่ายโหวตเมื่อไหร่ ไปกันแบบยกแผง
แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ ผมประเมินว่า ฝ่ายรัฐบาลเข้ามุมปล่อยให้ฝ่ายค้านถลุงยับเยินแน่
เพราะสถานการณ์ประเทศไทยหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงมากที่สุด คนติดเชื้อน้อยสุดแค่ 3,200 คน ไม่มีคนตาย แต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยแย่หนักทุกด้าน ฐานะการคลังของรัฐบาลเปราะบางมาก หนี้สาธารณะสูงถึง 58%เกือบชนกรอบเพดานการคลัง คนตกงานกระจายตัวกันทั่วบ้านทั่วเมือง คนเป็นหนี้สินกันหนักหน่วงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ขณะที่มาตรการของรัฐบาลในตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะยังมะรุมมะตุ้มกับมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และหว่านเงินลงไปเพื่อยังชีพแบบชั่วคราวมากกว่าการออกมาตรการเพื่อร่วมกันหาทางสนับสนุนและแก้ไขในระยะยาว
ครั้นจะหันไปพึ่งพา “ขุนพลเศรษฐกิจ” กลับมาแพแตกก่อนสู้พายุ ยิ่งทำให้เรือเหล็กของรัฐบาลลุงตู่ ดูเหมือนจะมีรูรั่วให้ซุ่มโจมตี ตลอดรายทาง ถอยเรือดำน้ำไปใช่ว่าจะไม่มีการขุดมาถล่ม
ลำพังการตัดงบประมาณปี 2563 จำนวน 8.2 หมื่นล้านบาท จากหลายกระทมรวงมาใช้แก้ปัญหาก็จะถูกถล่ม
นี่ไม่นับงบประมาณในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ปีงบประมาณ 2564 ตามร่างที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์สำนักงบประมาณ หน่วยงานต่างๆ ตั้งงบใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันรวม 37,228 ล้านบาท หรือเพียง 1.12% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 3,300,300 ล้านบาท เป็นรายจ่ายโดยตรง 20,653 ล้านบาท รายจ่ายโดยอ้อม 16,575 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีการแตะ แต่รอบนี้พรรคก้าวไกลจะมีการเปิดแผลถล่มแน่ เพราะนี่คือจุดล่อแหลมในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการปลุกปั่นยุยง
ในเมื่อพี่ใหญ่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” 1 ในที่ปรึกษากรรมาธิการงบฯ เปิดแผลต่อประชาชนกันโต้งๆ ผ่านรายการ "ก้าวหน้าทอล์ค" ทางเฟซบุ๊กเพจ คณะก้าวหน้าแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม “พวกเราในฐานะ กมธ. ดูว่าทำอย่างไรให้การใช้งบประมาณที่มีจำกัดเกิดประสิทธิภาพและมีประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2564 ที่ต้องฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 แต่สิ่งที่เราเห็นมาตลอด คืองบประมาณที่ถูกใช้ไปโดยไม่ถูกตรวจสอบมากที่สุด คืองบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์…
ต้องย้ำว่า เราพูดด้วยความหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะถ้าการใช้งบประมาณส่วนนี้เป็นไปโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ มีแต่ความไม่โปร่งใส ก็รังแต่จะทำให้เกิดความสงสัยและการตั้งคำถามในหมู่ประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์”
คุณคิดว่า บรรดาผู้คนในคณะก้าวหน้าจะไม่มีใครออกมาขย่มการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีใส่รัฐบาลลุงตู่ เพื่อชิ่งต่อไปยังสถาบันเป้าหมาย ตามการชี้เป้าของผู้ฝูงหรือ...การข่าวของผมบอกเป็นเช่นนั้น
หัวเชื้อการอภิปรายงบประมาณในปี 2563 จะถูกลากยาวไปเชื่อมกับวันชุมนุมใหญ่ วันที่ 19 กันยายน 14 ปีรัฐประหาร 2549 ที่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนจำนวนหนึ่งนัดหมายกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประเด็นที่มีการอภิปรายถล่มรัฐบาลบนเวที อาจจะทำให้ “การเมือง” ร้อนแรงขึ้นมาได้
ถัดไป ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2563 จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ที่มีการเสนอญัตติ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่าเป็นปมใหญ่ของรัฐบาลเช่นกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ที่การสู้กันของฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันก็ห่ำหั่นกันเอง ขนาดว่าบางพรรคประกาศกบฏกับแนวทางของพรรค ขณะที่ฝ่ายค้านก็แตกคอกันเอง พรรคเพื่อไทย (พท.) ไปทางหนึ่ง พรรคก้าวไกลไปทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และฝ่ายรัฐบาล ต่างมีหลักการตรงกัน คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่แตกต่างกันในรายละเอียด โดยของพรรคเพื่อไทยให้ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนฝ่ายรัฐบาลใช้ระบบผสม ระหว่างการเลือกตั้งและการสรรหา ส.ส.ร.
การโหมไฟ การเติมฟืนในประเด็นการบริหารงานของรัฐบาลลุงตู่ จะถูกสอดประสานเพื่อปลุกอารมณ์ของสังคมคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ไปให้ถึง 14-16 ตุลาคม แน่นอน
มิเช่นนั้นไม่มีการสร้างวาทะกรรม การปลุกระดมในทุกหย่อมหญ้า แบบรายวันให้เราได้ระทึกกันดอก
ผมถึงบอกว่าเดือน กันยายนปีนี้มิใช่ปกติสำหรับรัฐบาล แต่เป็นกันยาทมิฬเชียวแหละครับ