แก้รธน. ราคาแพงหมื่นล้าน ได้อะไร... ถ้าไม่ปฏิรูปการเมือง

16 ก.ย. 2563 | 03:00 น.

แก้รธน. ราคาแพงหมื่นล้าน ได้อะไร... ถ้าไม่ปฏิรูปการเมือง : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3610 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-19 ก.ย.2563  โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

แก้รธน.

ราคาแพงหมื่นล้าน

ได้อะไร...

ถ้าไม่ปฏิรูปการเมือง
 

     รัฐธรรมนูญปี 2560 กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม เมื่อบรรดานักเลือกตั้ง พรรคการเมืองและประชาชนคนรุ่นใหม่เร่งรัดให้รัฐสภาไทย มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่เพื่อให้เป็น “ประชาธิปไตยแบบกินได้” โดยนำร่องจากการแก้มาตรา 256 เพื่อเป็นกุญแจนำไปสู่การแก้ไข รธน.
 

     คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้น่าสนใจดังนี้
 

     มาตรา 25 มีลักษณะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้วยการกำหนดว่าต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากคำว่า "ความมั่นคงของรัฐ" ถูกตีความได้หลายมิติ และรัฐอาจยกมาเป็นข้ออ้างในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้
 

     มาตรา 49 มีความมุ่งหมายในการป้องกันการรัฐประหารหรือการใช้กำลังล้มล้างการปกครอง ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 กำหนดให้ยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุด แต่มีคดีหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประชาชนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลได้ ทำให้ "มีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนญ" เช่น กรณี ส.ส. เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็มีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าล้มล้างการปกครอง
 

     มาตรา 65 กำหนดให้รัฐจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ทบทวนทุก 5 ปี ซึ่งไม่เหมาะสมเพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงตลอด ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็มีอำนาจมากเกินไป เป็นการส่งเสริมให้ฝ่ายประจำอยู่เหนือฝ่ายการเมือง อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นผู้ใกล้ชิดรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้กรอบยุทธศาสตร์ชาติมาจากความคิดในลักษณะเดียวกัน และไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

     หมวดสภาผู้แทนราษฎร ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมเข้าใจยากและไม่สนองเจตนารมณ์ของประชาชน ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น การคิดคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ, เกิดพรรคเล็กจำนวนมาก, เกิดรัฐบาลผสมอ่อนแอและขาดเสถียรภาพ
 

     วุฒิสภา การที่ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่และส่งผลต่อกลไกการตรวจสอบ อีกทั้งการกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพยังเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะ เพราะผู้เลือกต่างไม่รู้จักกัน ย่อมไม่มีฐานความรู้และเหตุผลในการตัดสินใจเพียงพอ ดังนั้นควรพิจารณาว่าระหว่างการเลือกตั้งทางอ้อมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กับการเลือกตั้งทางตรงแบบในรัฐธรรมนูญปี 2540 วิธีใดจะดีกว่ากัน
 

     นายกรัฐมนตรี มาตรา 88 และ 89 กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีไม่เกิน 3 รายชื่อแล้วแจ้งต่อ กกต. เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ทาง กมธ. เสียงข้างมากเห็นว่า "ไม่ถือว่าเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน"
 

     วุฒิสภาชุดปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการคัดสรรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และมีสถานะรัฐบาลปัจจุบันซึ่งได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ "การแก้ไขที่ขัดกับความต้องการของคณะผู้ปกครองประเทศที่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจะทำไม่ได้เลย" ส.ว. ชุดปัจจุบันจึงเปรียบเสมือนกลไกป้องกันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย
 

     กมธ.ชุดนี้เสนอว่าเห็นควรให้ยกเลิกเงื่อนไขในมาตรา 256 ในการมี ส.ว. เห็นชอบด้วยคะแนน 1 ใน 3 เหลือเพียง "เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา" ในการแก้รัฐธรรมนูญ
 

     นี่คือข้อเสนอให้มีการแก้ไข แต่จะลากไปหมวด 1 คือบททั่วไป กับหมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือไม่ อันนี้ต้องรอลุ้น
 

     หลายคนบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีราคาค่างวดอันแสนแพง และการแก้ไข ก็ไม่รู้ว่าคุ้มค่าหรือไม่
 

     เพราะคนไม่ได้มองที่การปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปนักการเมือง แต่กลับไปแก้ที่กฎกติกากันก่อน
 

     ผมพามาดูต้นทุนประชาธิปไตยกินไม่ได้ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกร่าง 2 รอบ รอบแรกมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน มีกมธ.ยกร่างฯ 36 คน ประชุมไปทั้งสิ้น 158 ครั้ง รวมเป็นเงิน 34,502,000 บาท ก่อนถูก สปช.คว่ำในเดือนกันยายน 2558 จ่ายเงินเดือน สปช. 250 คน คนละ 1.2 แสนบาท ไม่นับเงินเดือนผู้ช่วย และสิทธิประโยชน์อีกมากมาย สูญเงินไปกว่า 300 ล้านบาท
 

     การร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 โดยมี อ.มีชัย  ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กมธ.มี 21 คน ประชุม 480 ครั้ง เบี้ยประชุม 4,320,000 บาท ส่วน 19 คนที่เหลือ ได้ไปคนละ 2,880,000 บาท รวม 59,040,000 บาท

     มีงบให้ กกต.จัดทำประชามติรัฐธรรมนูญอีก 2,991 ล้านบาท ในวันที่ 7 ส.ค.2559
 

     นี่คือราคาที่แสนแพงของ รธน.ปี 60 อย่าฉีกทิ้งกันบ่อย...นะพี่น้องไทย
 

     คราวนี้ถ้ายกร่างใหม่ จะมีต้นทุนเท่าใด
 

     19 ส.ค. 2563  คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. บอกว่า หากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เงิน 11,000 ล้านบาท
 

     13 ก.ย. 2563  สังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. บอกว่าเสียดายเงิน 15,000 ล้านบาท กับการแก้รัฐธรรมนูญ
 

     ราคาที่ต้องจ่ายนี้มาจาก ค่าทำประชามติ  3,000-4,000 ล้านบาท ตามบทบัญญัติแห่ง (8) ของ มาตรา 256  ที่กำหนดว่าหากแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ
 

     ค่าเลือกตั้ง ส.ส.ร. จากทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญอีกประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท
 

     ค่าเงินเดือน เบี้ยประชุม ค่าใช้จ่ายในการร่างและการรับฟังความคิดเห็น ผมว่าน่าจะเกิน 300 ล้านบาท
 

     หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องมีการทำประชามติอีกครั้ง 3,000-4,000 ล้านบาท
 

     ประมาณคร่าวๆ รวมแล้วค่าใช้จ่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนักการเมืองกินได้ แต่ประชาชนถูกอ้างอิงสิทธิ์น่าจะไม่น้อย 8,000-10,000 ล้านบาท
 

     ปัญหาที่ผมชวนขบคิดคือ คนไทยเราทุ่มทุน 8,000-10,000 ล้าน เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งตัวแทนมาทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทย แล้วถ้าเราได้ส.ส.ที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ นิสัย ใจคอ การทำหน้าที่แบบปัจจุบันจะคุ้มค่ากันมั้ย
 

     ส.ส.นักเลือกตั้งที่จะเข้ามานั้น ทำให้สังคมมีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม ผู้คนมีโอกาส ลดความเหลื่อมลํ้า ลดแตกต่างระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองเล็กได้หรือไม่
 

     นักการเมือง นักปกครอง นักเลือกตั้งที่เข้ามาตามระบอบประชาธิปไตยที่เรากำลังเรียกร้องกันนั้น จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ทุกชนชั้นมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองได้หรือไม่
 

     พรรคการเมือง เป็นสถาบันการเมือง ของประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน หรือเป็นพรรคของนายทุน ที่ทำหน้าที่เพียงให้ประชาชนเลือกเท่านั้น เสร็จฤดูกาลเลือกตั้งก็เป็นหน้าที่ของฉันใช่หรือไม่
 

     มีกลไกอะไรทางการเมือง ที่บีบให้บรรดานักเลือกตั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบต่อสังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติ ไม่ใช่มาแย่งชิงทรัพยากรหรือผลประโยชน์กันเช่นปัจจุบัน
 

     คำถามสุดท้ายคือ มีกลไกอะไรที่จะเป็นเครื่องการันตีต่อผู้คนส่วนใหญ่ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วจะมีกลไก กระบวนการ ในการป้องกันความขัดแย้งที่รุนแรง ด้วยสันติวิธี และสติปัญญาของผู้คนในสังคมได้บ้าง
 

     ต้นทุนประชาธิปไตยของประเทศไทยจึงมีราคาอันแพงแสนแพง....ชนิดที่คนไทยไม่เคยตระหนักในการปฏิรูปการเมืองแม้แต่นิดเดียว...พับผ่าสิเอ้า!