สงคราม ต้องจบที่โต๊ะเจรจา

31 ต.ค. 2563 | 08:24 น.

สงคราม ต้องจบที่โต๊ะเจรจา : คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3623 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-4 พ.ย.63 โดย...กระบี่เดียวดาย

ทางออกของความขัดแย้งในประเทศขณะนี้ ดูเหมือนไม่มีทางให้เลือกมากนัก เพราะท่าทีของแต่ละฝ่ายยังยืนอยู่ในจุดตัวเอง หลังผ่านเวทีการถกเถียงในรัฐสภาไปแล้ว 2 วัน

         

สถานการณ์ที่ยืดเยื้อมีแต่ส่งผลร้ายให้กับประเทศ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่คุกคามประชาชนอย่างหนักหน่วงเข้าไปทุกวัน แม้มีสัญญาณดีขึ้นบ้างในแง่การผลิต การส่งออก กระทั่งการบริโภคในประเทศ แต่เป็นการฟื้นตัวในความเปราะบางอย่างมาก

         

ล่าสุดยุโรปมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศเริ่มประกาศล็อกดาวน์รอบ 2-3 นั่นหมายความว่ามีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวลงอีกรอบ

         

ประเทศไทยจัดการโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่มีปัญหาเศรษฐกิจจากผลพวงโควิด-19 ที่ต้องเร่งมือบริหารจัดการแก้ไข แต่ของไทยซับซ้อนลง ด้วยปัจจัยทางการเมืองที่กระหน่ำซ้ำเติมให้การจัดการเศรษฐกิจเลวร้ายลงกว่าเดิม

 

ทุกอย่างเป็นผลพวงและผูกพันกันทั้งหมด โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีเป็นประเด็นอีกด้วย เมื่อไม่เชื่อมั่น การออกมาตรการอะไรออกมาก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนไปด้วย หรือกระทั่งการวางแผนเศรษฐกิจระยะกลางเพื่อรองรับการฟื้นตัวของโควิด-19 ก็พลอยหดหายไปด้วย อย่าว่าแต่ปัญหาเฉพาะหน้า

ท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันอย่างหนักแน่นทั้งในสภาฯ กระทั่งในวงครม.ว่าไม่ลาออก ไม่ทิ้งหน้าที่ภารกิจ 

 

"การให้ผมลาออกเพราะบริหารประเทศ ถ้าย้อนกลับไปปี 2549 หรือ 2557 มีใครลาออกหรือไม่ แล้ววันนี้คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน กรณีการชุมนุมผมรักลูกหลานทุกคน เป็นพลังแผ่นดินในวันข้างหน้า ทุกคนเป็นคนไทย ผมรับฟังมีทั้งทำได้และทำไม่ได้ เห็นด้วยหากจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อนำไปสู่การพูดคุยและหาทางออก โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและฝ่ายที่เห็นต่าง มิเช่นนั้นก็นั่งเปล่าๆ ผมกังวลอยู่ว่าจะไปเจรจากับใคร ทุกคนเป็นหัวหน้าหมด คงต้องใช้สถานที่กว้างๆ และผมขอสงวนสิทธิในข้อเรียกร้องที่ไม่ได้เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่"

 

ส่วนแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาหาทางออกประเทศ จากวิกฤติการเมือง นั้นได้หารือในที่ประชุมครม.แล้ว เห็นด้วย แต่เรื่องนี้น่าจะเป็นฝั่งสภาพิจารณาตั้งขึ้นมาจากหลายฝ่าย ทั้งส.ส. ส.ว. กลุ่มที่เห็นด้วย กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุม

 

ขณะที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มีความเห็นตรงกันให้สภาเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานศึกษาสร้างความปรองดอง ขึ้นมาหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมและได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพราะเป็นหน่วยงานที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ และมีหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ศึกษารูปแบบหาทางออกร่วมกันและออกแบบโครงสร้างของคณะทำงานว่า ควรจะเป็นอย่างไร

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน โดยพรรคเพื่อไทย ขอยืนยันว่าสิ่งที่ต้องดำเนินการทันที คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก เพราะมองเป็นต้นตอของปัญหาทั้งมวล ตราบใดที่ท่านไม่ลาออก ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข การชุมนุมก็ยังคงอยู่ ปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเงื่อนไขและจะนำประเทศพ้นจากวิกฤติที่มีได้ คือการที่ทุกฝ่ายต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วตามญัตติที่ได้เสนอไว้ โดยไม่ต้องทำประชามติ

 

ส่วนการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกให้กับประเทศตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอนั้น พรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วม ไม่จำเป็น และเป็นการซื้อเวลา

 

ด้านกลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนยันในข้อเรียกร้องหลักเหมือนเดิม และไม่มีท่าทีตอบรับในการเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่สภาฯจะเป็นเจ้าภาพตั้งขึ้น

 

ยังคงอยู่ในมุมของตัวเอง โดยยังไม่เห็นทางสมานฉันท์ ทางออกจากวิกฤติประเทศ นาทีนี้ยังคงตีบตัน ด้วยท่าทีแต่ละฝ่าย

 

ทุกฝ่ายต้องยอมรับและกลับไปทบทวนใหม่ ทั้งพรรคฝ่ายค้านหรือคู่ขัดแย้งอื่นๆ

 

ไม่มีสงครามที่ไหนและครั้งไหน จบลงด้วยการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นทำลายล้างกัน

 

เพราะนั่นหมายถึงหากใครได้ชัยชนะ แต่เป็นชัยชนะบนความสูญเสียและเป็นชัยชนะบนซากปรักหักพัง ที่ไม่เกิดประโยชน์โพดผลใดใด มีแต่บาดแผลที่จะฝังรากลึกตอกย้ำ หรือสงบจบลงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ผ่านการสั่งสมของวันเวลา ก็จะย้อนหวนคืนมาใหม่

 

สงครามต้องจบลงที่โต๊ะเจรจาเท่านั้น!!