เมื่อพูดถึง แจ็ก หม่า (Jack Ma) ที่โด่งดังจากการนำเอากลุ่มอาลีบาบา (Alibaba Group) เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเมื่อหลายปีก่อน ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้จัก วันนี้เขากำลังจะสร้างความฮือฮาครั้งใหม่ด้วยการนำเอาแอ๊นท์กรุ๊ป (Ant Group) เจ้าแห่งฟินเทคของโลกเข้าตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกงคู่ขนานกันไปอีกแล้ว วันนี้เราจะไปสำรวจธุรกิจของมดตัวน้อยที่เปี่ยมด้วยพลังของแอ๊นท์กัน ...
การเติบใหญ่ของการค้าออนไลน์และด้านดิจิตัลอย่างรวดเร็ว การผ่อนคลายกฎระเบียบของอุตสาหกรรมการเงิน และความเก่งกาจของผู้ประกอบการจีน ทำให้ธุรกิจฟินเทค (Fintech) ในจีนขยายตัวโดยลำดับ
อันที่จริง ธุรกิจฟินเทคของแอ๊นท์ที่เป็นแชมป์โลกอยู่ในปัจจุบันก็ก่อกำเนิดจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาลีบาบา โดยในปี 2004 กลุ่มอาลีบาบาได้เปิดบริการการเงินออนไลน์ภายใต้ชื่อ “อาลีเพย์” (Alipay) หรือ “จือฟู่เป่า” (Zhifubao) ซึ่งทำหน้าที่เป็นบุคคลที่ 3 รับฝากเงินของผู้ซื้อ เก็บรักษา และโอนเงินชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายออนไลน์เมื่อผู้ซื้อพึงพอใจกับสินค้า โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ
อาลีเพย์พัฒนาบริการชำระเงินออนไลน์ที่มีความเสถียรและน่าเชื่อถือผ่านแอ็พกระเป๋าตังค์ บริการโอนเงินดิจิตัล และบริการชำระค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งการชำระเงินในร้านค้าออฟไลน์ ซึ่งครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลกใน 27 สกุลเงิน ช่วยให้ชาวจีนเกิดความมั่นใจ ได้รับความสะดวก และประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก จนชาวจีนหลายร้อยล้านคนติดใจในบริการ และส่งผลให้อาลีเพย์กลายเป็นแพล็ตฟอร์มโอนเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาต่อมา
ในปี 2011 แจ็ก หม่าได้ตัดสินใจแยกอาลีเพย์ออกจากบริษัทแม่ โดยจัดตั้งสำนักงานใหญ่ที่นครหังโจว (Hangzhou) เมืองเดียวกับของอาลีบาบากรุ๊ป
ทั้งนี้ ข่าววงในระบุว่า ในช่วงนั้นยาฮู อิงค์ (Yahoo! Inc.) และซอฟท์แบ้งค์ คอร์ป (SoftBank Corp) ถือหุ้นใหญ่ในอาลีบาบากรุ๊ป ขณะเดียวกัน แจ็ก หม่า ก็มีแผนจะนำเอากลุ่มอาลีบาบาเข้าไปลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ทำให้หลายฝ่ายเห็นว่า สภาพการณ์เช่นนี้ซ่อนไว้ซึ่งความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระบบการชำระเงินดังกล่าวตกอยู่ในมือของธุรกิจต่างชาติ เพราะนั่นจะกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเงิน และอื่นๆ ของจีน
ในปี 2013 อาลีเพย์ได้ตั้ง “ยู่เอ๋อเป่า” (Yu’ebao) แพล็ตฟอร์มรับฝากเงินออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยสามารถเปิดวงเงินฝากต่ำสุดเพียงแค่ 1 หยวนเท่านั้น ไม่นานหลังจากนั้น สินทรัพย์ของหน่วยธุรกิจนี้ก็พุ่งขึ้นเป็นราว 1.2 ล้านล้านหยวน กลายเป็นบริการรับฝากเงินออนไลน์ที่ใหญ่สุดในโลก
อย่างไรก็ดี บริษัทต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านกฎระเบียบทางการเงินใหม่เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มกังวลใจกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธนาคารออนไลน์ดังกล่าว และกระโดดเข้ามากำกับควบคุมปริมาณเงินสูงสุดที่แต่ละคนสามารถฝากได้ ทำให้ตลาดในส่วนนี้ชะลอตัวลงในระดับหนึ่ง
ในปีต่อมา กลุ่มอาลีบาบาได้ขึ้นทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์นิวยอร์กด้วยมูลค่า IPO ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากนั้น แจ๊ก หม่า ก็กลับมาซื้อ 33% ของหุ้นของอาลีเพย์โดยรวม
ในวันที่ 16 ตุลาคม 2014 แจ็ก หม่า ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทอาลีเพย์เป็น “แอ๊นท์ไฟแนนเชียลเซอร์วิส” (Ant Financial Services) และปรับเปลี่ยนให้กระชับขึ้นเป็น “แอ๊นท์กรุ๊ป” ในเวลาต่อมา
แอ๊นท์เลือกใช้มดซึ่งเป็น “แมลงตัวน้อย” เป็นโลโก้ และใช้มีมาสก็อตเป็นมดสวมชุดที่มีสีสันคล้ายซุปเปอร์แมน เพื่อสะท้อนว่าธุรกิจของกลุ่มเปี่ยมด้วยพลังและพร้อมจะให้บริการแก่ “คนตัวเล็ก” ที่อาจขาดโอกาสในการขอรับบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ
ธุรกิจของแอ๊นท์ไม่ได้หยุดเพียงแค่เพียงบริการชำระเงินออนไลน์ของอาลีเพย์ หน่วยธุรกิจใหม่อื่นๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2015 แอ๊นท์สร้างความตื่นตะลึงด้วยการนำเสนอนวัตกรรมการชำระเงินผ่านระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เป็นรายแรกของโลก
และตามด้วยระบบการประเมินสินเชื่อดิจิตัล (Credit Scoring) ภายใต้ชื่อว่า “จือหม่าเครดิต” (Zhima Credit) ที่นำเอาข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในอดีตที่บริษัทมีอยู่และจากกิจการภายนอกมาใช้ในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของผู้กู้ยืมแบบเป็นปัจจุบันบนระบบคลาวด์ของอาลีบาบา (Alibaba Cloud)
ผู้อ่านคงเคยได้ยินบริการนี้มาบ้างแล้วว่า ลูกค้าทั่วไปสามารถใช้บริการนี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และหากได้รับคะแนนการประเมินที่สูงมากพอ คนเหล่านั้นก็สามารถได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ การยกเว้นการเรียกเก็บค่ามัดจำการเช่าจักรยาน และการใช้บริการห้องพักตามโรงแรม ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มประวัติการใช้ธุรกรรมออนไลน์เข้าสู่ระบบมากขึ้น
เท่านั้นไม่พอ แจ็ก หม่า ยังอาศัยเครื่องมือด้านดิจิตัลที่มีอยู่ในการต่อยอดธุรกิจการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ในชื่อ “มายแบ้งค์” (MYbank) เปิดหน้าชกกับคู่แข่งอย่างวีแบ้งค์ (WEbank) ของเท็นเซ้นต์โฮลดิ้งส์ (Tencent Holdings) ไปเลย
มายแบ้งค์ใช้หลักการ “310” ในการให้บริการ กล่าวคือ หลังจากโหลดแอพมายแบ้งค์แล้ว ลูกค้าก็สามารถกรอกข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อที่ใช้เวลาเพียง 3 นาที หลังจากนั้นระบบก็จะทำการประเมินสินเชื่อภายในเสี้ยวนาที ประการสำคัญ ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันโดยไม่ต้องเดินทางไปพบผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อแต่อย่างใด
ปัจจุบัน แอ๊นท์ถือหุ้น 30% ในมายแบ้งค์ และด้วยบริการที่สะดวกและรวดเร็วทันใจ ทำให้โดนใจและเข้าถึง SMEs จีนเป็นอย่างมาก หลังจากเปิดบริการนี้ไปไม่ถึง 5 ปี มายแบ้งค์ก็มีลูกค้าถึงราว 20 ล้านราย และสามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 300,000 ล้านหยวน โดยไม่ต้องมีการจัดตั้งสำนักงานสาขาในทางกายภาพเลย
ผลจากการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงินและปลดล็อกสัดส่วนการถือหุ้นของกิจการต่างชาติในจีน เปิดโอกาสให้ยู่เอ๋อเป่าสามารถขยายขอบข่ายทางธุรกิจและพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติที่มีศักยภาพได้ในวงกว้าง ส่งผลให้ยู่เอ๋อเป่ากลายเป็นแพล็ตฟอร์มด้านการลงทุนออนไลน์ที่ใหญ่สุดในโลก โดยสามารถสร้างรายได้ในสัดส่วนราว 15% ของรายได้โดยรวมของแอ๊นท์ในปัจจุบัน
การเปิดแพล็ตฟอร์มยู่เอ๋อเป่าให้บุคคลที่ 3 เข้ามามีส่วนร่วมในปี 2018 ทำให้แอ๊นท์สามารถจับมือกับอินเวสโก้ (Invesco Ltd.) ผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ที่เก่าแก่ของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายสำนักงานสาขากระจายอยู่ในกว่า 20 ประเทศได้ ประการสำคัญ ความร่วมมือดังกล่าวเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ยู่เอ๋อเป่ายังร่วมมือกับแวงการ์ดกรุ๊ป (Vanguard Group) ที่ปรึกษาด้านการลงทุนชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ดูแลทรัพย์สินทั่วโลกถึงราว 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการพัฒนาบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนด้วยหุ่นยนต์ (Robo Adviser)
อีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเงินของแอ๊นท์ที่เติบโตแรงอยู่ภายใต้หน่วยธุรกิจ “เครดิตเทค” (CreditTech) บริการสินเชื่อผู้บริโภคแบบ “นาโนเครดิต” ซึ่งมีบริการการเงิน 2 ประเภท อันได้แก่ “ฮวาเป่ย” (Huabei) ซึ่งแปลว่า “แค่ใช้” และ “เจี้ยเป่ย” (Jiebei) ซึ่งแปลว่า “แค่ยืม”
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน