+++ ท่ามกลาง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กำลังดำเนินการตั้ง “คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์” เพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยจากวิกฤติทางการเมือง ที่มีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่ม “คณะราษฎร” โดย นายชวน อยู่ระหว่างการทาบทามบุคคล ทั้ง อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา เพื่อให้มาร่วมขับเคลื่อนหาทางออกให้กับประเทศ แต่ดูๆ ไปแล้ว ท่าจะ “แท้ง” ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น เมื่อ “คู่ขัดแย้ง” ฝ่าย “ม็อบคณะราษฎร” ตั้งกราดไว้สูง ไม่ยอมร่วม “สังฆกรรม” ด้วย
+++ โดย กลุ่มราษฎร นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มต่าง ๆ ได้ออกร่วมแถลงจุดยืนต่อการจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ว่า การจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยอ้างว่ารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ปราศจากความชอบธรรม เพราะเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบตั้งแต่แรก การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองเพื่อซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น จึงจะไม่ยอมรับและ “ไม่ร่วม สังฆกรรม” กับคณะกรรมการดังกล่าวที่ฝ่ายรัฐบาลจัดตั้งขึ้น พร้อมกันนี้กลุ่มราษฎรยังย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ ต้องปฏิรูปสถาบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 8 พ.ย.63
ปรองดองสมานฉันท์ หัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘ประธานกรรมการ’
+++ แกนนำกลุ่มราษฎร ยังตั้งแง่ว่า หากจะเริ่มการพูดคุยเจรจาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการเจรจาในรัฐสภาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขณะนี้ประชาชนถูกดันให้หลังพิงฝา จึงจะไม่ยอมถอยอีกต่อไป พร้อมทั้งกำหนดรูปแบบการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมเครือข่ายทุกภูมิภาค และหารือวางแผนรูปแบบการต่อสู้กันอีกครั้ง ยืนยันว่าจะชุมนุมใหญ่อีกครั้ง
+++ หลายๆ ฝ่ายเริ่มเห็นด้วยกับการ “หาทางออก” ให้กับประเทศ โดยมี “รัฐสภา” เป็นตัวกลางในการหารูปแบบให้ “คู่ขัดแย้ง” ได้หันหน้ามาพูดคุย เจรจากัน แต่หาก “ฝ่ายม็อบ” ไม่ยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา โดยยังตั้งแง่ข้อเรียกร้องไว้เหมือนเดิม โอกาสที่จะ “หาทางออก” ให้กับประเทศ ก็ยังเป็นไปได้ยาก ในเมื่อฝ่าย “ลุงตู่” ไม่ยอมลาออก ฝ่าย “คณะราษฎร” ไม่ยอมเจรจาเพื่อนำไปสู่การปรองดองสมานฉันท์ ประเทศก็ถึง “ทางตัน” คงต้องอยู่กันไปแบบนี้ แต่ผลกระทบก็จะตกหนักกับ “คนไทย” ทุกคน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ที่แย่หนักอยู่แล้ว ก็จะหนักต่อไปอย่างนี้ เวรกรรมคนไทยจริงๆ ที่ต้องมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ เจอแล้วเจอเล่าอยู่ร่ำไป...
+++ เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ สำหรับ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ล่าสุดได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการเสริมทันที หลังจาก ครม.สัญจรที่ภูเก็ต อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/2564 วงเงิน 51,858 ล้านบาท และ โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่สองวงเงิน 10,042 ล้านบาท เพื่อดูแลเกษตรกร 2.9 ล้านครัวเรือน รวมวงเงินกว่า 6.19 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวนาและชาวสวนยางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
+++ ขณะเดียวกัน ครม.ยังอนุมัติมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 ประกอบไปด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย.63 - 31 ธ.ค.64 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ต.ค.63-31 ธ.ค.64 และ 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 610 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค.63 - 31 ต.ค.65 ว่ากันว่า จะสามารถช่วยดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก และจะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการชดเชยตามโครงการประกันรายได้ โดยทั้ง 3 โครงการจะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,999 ล้านบาท รวมทั้งโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท
+++ นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือน ก.ย.63 – ก.ย.64 (ประกันรายได้ ตั้งแต่ต.ค.63 - 1 มี.ค.64) …นโยบายดีๆ เพื่อช่วยเหลือชาวนา-ชาวไร่ แบบนี้ ต้องยกนิ้วให้