พระมหากษัตริย์กับมหาวิทยาลัย

03 ธ.ค. 2563 | 04:25 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2563 | 11:36 น.

พระมหากษัตริย์กับมหาวิทยาลัย : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3632 ระหว่างวันที่ 3-5 ธ.ค.2563 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

1.พระมหากษัตริย์กับมหาวิทยาลัย
 

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 เป็นวันครบรอบ 95 ปี แห่งการสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ผู้เขียนได้รับบทความ 2 ชิ้น จาก ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อการอุดมศึกษาของไทย เป็นเรื่องที่ปวงชนชาวไทยควรได้น้อมใส่เกล้า จึงขออนุญาต ดร.เอนก นำบทความทั้งสองมาเผยแพร่ โดยมิได้ตัดตอน เพื่อผู้อ่านและพี่น้องไทย จะได้ตอบคนไทยบางจำพวกที่ยังมิได้รู้สำนึก โดยมีเนื้อหาดังนี้
 

พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้กำเนิดและทรงมีคุณูปการต่อการอุดมศึกษาเป็นอเนกอนันต์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงให้กำเนิด โรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนแพทย์-ราชแพทยาลัย โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ เป็นปฐม ส่วนล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 นั้นทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ และ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงสร้างธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตไทย และนี่เป็นประวัติอุดมศึกษาที่น่าจะรู้กันทั่ว
 

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย ร่วมร้อยไร่ ให้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ สวนดุสิต ที่เหล่านี้เป็นเขตพระราชฐาน ในพระราชวังดุสิต พระมหากรุณาในครั้งนี้ คล้ายกับที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงเกื้อกูล หนุนช่วย อุดมศึกษาไทยมาแล้ว เป็นการสืบต่อธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ และค้ำจุนมหาวิทยาลัย ให้เห็นภาพกว้างยิ่งขึ้น

ที่ดินล้ำค่าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 1,153 ไร่ ในใจกลาง กทม. เวลานี้ ก็เป็น “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ท่าพระจันทร์ ครั้งหนึ่ง เป็นวังหน้าของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมารัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของกองทหาร และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน ก็ผันกลายเป็นมหาวิทยาลัย
 

ต้องไม่ลืมกันด้วยครับว่ามหาวิทยาลัยมหิดลนั้น มีจุดกำเนิดมาจากศิริราชพยาบาล อันโรงพยาบาลแห่งนี้เองก็สร้างขึ้นบนที่ดินวังหลัง ยิ่งกว่านั้นบริเวณ “ศาลายา” ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งหลักของมหาวิทยาลัยในเวลานี้ 1,241 ไร่ มหาวิทยาลัยก็ขอซื้อจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในราคาที่ “ถูก” มาก ยังมีมหาวิทยาลัยศิลปากร อันมี “พระราชวังสนามจันทร์” เนื้อที่ 888 ไร่ เป็นที่ตั้งหลักของมหาวิทยาลัย สถานที่นั้นเคยเป็นเขตพระราชวังของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และก็ในสมัยปัจจุบันนี้เอง ที่พระเจ้าอยู่ได้พระราชทานโฉนดแก่มหาดไทย และ จ.นครปฐม เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ใช้เป็นการถาวร
 

ถ้าสงสัยต่อว่า “ทำไมพระมหากษัตริย์มีที่ดินมากมายทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด” ก็เห็นจะต้องบอกว่า เพราะราชวงศ์จักรี ใน 250 ปีโดยประมาณได้รักษาแผ่นดินสยามเอาไว้ได้ จากการรุกรานของอริราชศัตรูหลายต่อหลายครั้ง ไม่ขาดสาย และตามธรรมเนียมไทยโบราณนั้น ที่ดินทั้งปวงย่อมเป็นของพระมหากษัตริย์ มาถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้พระราชทานโฉนดให้เจ้านาย ขุนนาง และอาณาประชาราษฎร์มีที่ดินเป็นของส่วนตน ยิ่งใน กทม.นั้น ยิ่งไม่พึงสงสัย รัชกาลที่ 1 ท่านย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่นี่ สร้างราชธานีอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาจากชุมชนเล็กๆ โดยแท้
 

ที่ดินอันมากมายมหาศาลนั้น แสดงให้เห็นถึงพระบรมเดชานุภาพ และสะท้อนประวัติและการกำเนิดของรัฐสยาม และ กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ครั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป พระมหากษัตริย์ทรงรับระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน ทรงนำที่ดินของแผ่นดินมาแบ่งปันจัดสรร ผ่านการออกโฉนด และเอกสารสิทธิ์อื่นๆ ให้แก่ชาวนาชาวไร่ ให้แก่ประชาชนพลเมือง ขุนน้ำขุนนาง และเจ้านาย ย่อมถือได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบที่ดินครั้งสำคัญ
 

ยิ่งกว่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินมากมายมหาศาลของพระองค์เองแก่วงราชการ แก่บ้านเมือง แก่สาธารณประโยชน์ และที่สำคัญยิ่ง แก่วงการอุดมศึกษาไทย พวกเราทั้งปวงจะจารึกไว้ในประวัติของเรา จะจดจำพระมหากรุณาธิคุณ ไม่มีวันลืม การสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ดีที่สุดคือทำหน้าที่เราให้ดีที่สุด สอนให้ดีที่สุด วิจัยให้ดีที่สุด ทุ่มเทให้ลูกศิษย์ สร้างศิลปวิทยาการให้รุ่งเรือง เพื่อบ้านเมืองจะได้มั่นคง พัฒนา สถาพร!

2.รัชกาลที่ 6 กับการก่อเกิดอุดมศึกษาไทย
 

วันนี้ 25 พ.ย. 2563 เป็น วันครบรอบ 95 ปี แห่งการสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการจะขอเล่าถึงพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ในการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ
 

จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น ก่อเกิดบนพื้นฐานเดิมของโรงเรียนฝึกหัดวิชาสำหรับข้าราชการพลเรือน ตั้งขึ้นในปี 2442 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็กในปี 2445 ซึ่งล้วนเป็นวิวัฒนาการทางการศึกษาในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง
 

ครั้น รัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ ก็ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมที่จะจัดให้มีการอุดมศึกษาขึ้นมาในสยามให้จงได้ในเร็ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้รีบยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษาทันที เรียกชื่อว่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 1 มค 2453 จัดว่าเป็นพระบรมราโชบายที่ทรงดำเนินการเร็วมาก คือภายในไม่กี่เดือนที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 สวรรคต
 

ใน ปี 2458 โรงเรียนนี้ เปิดสอน 8 วิชา คือ การปกครอง กฏหมาย การทูต การคลัง การแพทย์ การช่าง การเกษตร และวิชาครู โดยสอนใน 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนรัฏฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนเนติศึกษา โรงเรียนยันตรศึกษา จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีเพียงแต่วิชาที่จะสอนผู้คนให้ไปรับราชการเท่านั้น
 

ในวันที่ 26 มีนาคม ปี 2459 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนี้ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นต้นมีสี่คณะ คือ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ก็มิได้ให้ปริญญาบัตรในทันที จาก ปี 2459 ถึง ปี 2465 ที่ยกคุณภาพผู้บรรยาย และ เพิ่มพูนศิลปวิทยาการนั้น มหาวิทยาลัยจัดสอนเพียงระดับประกาศนียบัตร เท่านั้น รอจนถึงปี 2465 จึงเริ่มสอนในระดับปริญญาตรี จนสิ้นรัชกาลที่ 6 ไม่มีการให้ปริญญาบัตรแก่นิสิต
 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรอเวลานับแต่สถาปนามา เกือบ 15 ปี จึงให้ปริญญาเป็นครั้งแรก คือ เวชศาสตรบัณฑิต (แพทยศาสตรบัณฑิต) เมื่อ 25 ตุลาคม 2473 โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 เสด็จมาพระราชทานด้วยพระองค์เอง เริ่มต้นธรรมเนียมการให้เกียรติอย่างสูงต่อบัณฑิตในประเทศไทย ที่พระมหากษัตริย์ พระราชินี และเจ้านายชั้นสูง ทรงพระกรุณา เสด็จมาพระราชทานหรือประทานให้ด้วยพระหัตถ์
 

เป็นอันว่าการอุดมศึกษาไทยได้ถือกำเนิดมา โดยสมบูรณ์ เมื่อปี 2473 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราวสองปี โดยล้นเกล้ารัชกาล ที่ 6 เป็นหลัก แต่กระบวนพระบรมราโชบายเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และ จบสมบูรณ์คือ พระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก จากพระหัตถ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7