+++ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา “คณะรัฐมนตรี”ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 6,387 ล้านบาท จัดหา “วัคซีนโควิด-19” เพื่อฉีดให้กับประชาชนป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรงตัวนี้ เพิ่มเติมอีก จำนวน 35 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายการฉีดให้ประชาชนไทยอย่างน้อย 50% ภายในปี 2564 โดยเป็นโครงการจัดหาวัคซีน กับ บริษัท AstraZeneca ประกอบด้วย ค่าวัคซีนโควิด จำนวน 5,302.50 ล้านบาท, ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 371.17 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 713.61 ล้านบาท สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 นี้
+++ สำหรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น ระยะที่ 1 เดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ใน 18 จังหวัด, ระยะที่ 2 เดือน มิถุนายน-ธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโดสในทุกจังหวัด รวมจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส ซึ่งการได้รับวัคซีนโควิดจะช่วยลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
+++ จะว่าไปแล้ว ประเทศไทยได้รับ “วัคซีนโควิด-19” ล่าช้ากว่าหลายประเทศ โอกาสที่จะ “เปิดประเทศ” เพื่อ “การท่องเที่ยว” รับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก็พลอยช้าไปด้วย เพราะกว่าคนในประเทศไทยจะได้รับ “วัคซีน” แค่ 50% ของประชากรก็ต้องรอไปถึงปลายปีนี้ และถ้าจะให้ได้รับวัคซีนเกือบทุกคนทั้งประเทศ ก็คงต้องรอไปถึงกลางปี หรือ ปลายปี 2565 โน้น แล้วโอกาสที่จะสร้างความมั่นใจให้กับ “นักท่องเที่ยว” ที่จะเข้ามาเที่ยวในบ้านเราก็ไม่ค่อยจะมั่นใจเท่าไหร่นัก การ “ฟื้นเศรษฐกิจ” โดยอาศัยเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักด้านหนึ่งของประเทศไทย ที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ก็ล่าช้าออกไปด้วย เรื่องนี้จะโทษใครดี?...
+++ จากเรื่อง “วัคซีนโควิด” เปลี่ยนไปดูเรื่องการ “ปรับ ครม.” แทน 3 รัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุกของ 3 แกนนำ กปปส.ในคดีชุมนุมทางการเมือง ประเทศด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พรรคพลังประชารัฐ และ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม พรรคประชาธิปัตย์ เดิมที บิ๊กตู่- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ประกาศเอาไว้ว่า จะดำเนินการ “ปรับ ครม.” โดยเร็วที่สุด ภายในเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า แต่มาเจอกับเรื่อง การตีความความสถานะความเป็นรัฐมนตรีของทั้ง 3 คน รวมถึงตีความสถานะของ ส.ส.ทั้ง 5 คน ไม่รู้ว่าจะกระทบต่อการ “ปรับ ครม.” ให้ต้องล่าช้าออกไปหรือไม่ เพราะการ “ปรับ ครม.” ยิ่งล่าช้าเท่าไหร่ ก็เกิดแรกกระเพื่อมภายในรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ
+++ พูดถึงเรื่องการตีความสถานะ รมต. และ 5 ส.ส.กปปส. เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้เสนอเรื่องสมาชิกภาพส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ส.ส.เขต 6 สงขลา นายชุมพล จุลใส ส.ส.เขต 1 ชุมพร นายอิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามคำพิพากษาศาลอาญาเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ประกอบหนังสือของสำนักเลขาเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หนังสือของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และหนังสือของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ขอให้กกต.พิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของส.ส.มีเหตุสิ้นสุดลง จำนวน 5 ราย และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจำนวน 3 รายหรือไม่ โดยกกต.ได้พิจารณาตามหน้าที่ และอำนาจของกกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 และมาตรา 170 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลงหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เห็นว่า มีเหตุให้สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลง จำนวน 5 ราย และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จำนวน 3 ราย จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
+++ เรื่องนี้แม้จะส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความ ก็คงไม่มีอะไร “เซอร์ไพรส์” เพราะคนที่เป็น รมต.ก็คงต้องพ้นจากตำแหน่งไป และคนที่เป็น ส.ส. ก็พ้นจากตำแหน่งไปเช่นกัน แต่ที่ต้องส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ”วินิจฉัย ก็เพื่อมาสร้างความมั่นใจและ “การันตี” ว่า ทั้งหมดได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วจริงๆ จะได้หายข้องใจ และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ นั่นเอง