เกรียวกราวกันทั้งบาง เมื่อศาล 2 ศาล ตัดสินคดีเดียวกัน ”จำนำข้าว” ต่างกันแบบฟ้ากับดิน จนผู้คนในประเทศเกิดความกังขากันว่าเกิดอะไรขึ้นในระบบยุติธรรมในเมืองไทย
เพื่อให้เกิดความกระจ่างในข้อตัดสินของศาล ผมจึงนำคำพิพากษา 2 ศาลมาประกบกันให้เห็นภาพ...
วันที่ 6 พ.ย.2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เผยแพร่ คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะผู้พิพากษา 9 คน คดีระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณี ละเว้นระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560
สาระสำคัญในคำพิพากษาระบุว่า สำหรับความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนระบายข้าว โดยการแอบอ้างทำสัญญาขายแบบรัฐต่อรัฐดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยรับรู้การแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การตั้งกระทู้ถามสด กระทู้ทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายข้าราชการการเมือง และข่าวสารจากสื่อมวลชน ยิ่งกว่านี้ก่อนเริ่มโครงการรับจำนำข้าว ทั้งสำนักงานการตรวจการแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งเตือนและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเอานโยบายรับจำนำข้าวไปดำเนินการปฏิบัตินั้นจะมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน และการทุจริตในขั้นตอนต่างๆ ให้จำเลยทราบเป็นระยะๆ แต่จำเลยกลับไม่ได้ติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
ดังจะเห็นจากจำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุม กขช. เพียงวันที่ 9 ก.ย. 2554 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น การประชุม กขช. อีก 22 ครั้ง จำเลยหาได้เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพตามที่จำเลยได้ให้นโยบายไว้แต่อย่างใดไม่ โดยเฉพาะขั้นตอนการระบายข้าวนั้น จำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พันตำรวจตรี วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดำรงเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลังถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.25/2558 และหลบหนีในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว เป็นอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว อนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด อนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว และอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งให้พันตรี วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง เป็นอนุกรรมการชุดต่างๆ ล้วนมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวทั้งสิ้น ทั้งหลังจากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ที่นายวรงค์ (เดชกิจวิกรม) อภิปรายเรื่องการทุจริตการระบายข้าว
นายสุพจน์ เบิกความยืนยันข้อเท็จจจริงในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าข้าวตามสัญญา 4 ฉบับนั้น ในขณะนั้นยังคงมีการส่งมอบข้าวตามสัญญาขายข้าว 4 สัญญาแรกต่อไปอีกถึงปลายเดือน ก.พ. 2556 และมีการชำระเงินเพื่อรับมอบข้าวในสัญญาที่ 1 ระหว่างวันที่ 18 ต.ค. 2554 ถึงวันที่ 28 ม.ค. 2556 รับมอบข้าว 1,820,815.66 ตัน ชำระเงินเพื่อรับมอบข้าวในสัญญาที่ ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 22 กพ. 2556 รับมอบข้าว 1,402,537.86 ตัน ชำระเงินเพื่อรับมอบข้าวในสัญญาที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2555 ถึง วันที่ 22 ม.ค. 2556 รับมอบข้าว 1,654,453.13 ตัน
หากนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ นายวรงค์ อภิปรายเป็นต้นมา ยังมีระยะเวลาเพียงพอแก่การตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงตามข้ออภิปรายของนายวรงค์ และหากจำเลยดำเนินการตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับแรกอย่างจริงจัง ดังเช่นจำเลยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องโครงการข้าวถุงราคาถูก เพื่อวางมาตรการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นอีก ซึ่งในเรื่องโครงการข้าวถุงราคาถูก จะเห็นได้ว่าจำเลยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง และในวันที่ 10 ก.ค. 2556 คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวดำเนินการประชุมแล้วมีมติให้ระงับโครงการข้าวถุงราคาถูก
ดังนั้นในส่วนการระบายข้าวที่แอบอ้างว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐก็เช่นเดียวกัน จำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะระงับยับยั้งการส่งมอบข้าวตามสัญญาที่ยังไม่ได้ส่งมอบไว้ก่อนก็ย่อมกระทำได้ตามอำนาจหน้าที่
แต่จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นหน้ารัฐบาลและประธาน กขช. ซึ่งมีอำนานหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวงทบวง กรมในการกำกับ การระงับยับยั้ง หรือการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว แต่จำเลยกลับมีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายส่อแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรงกับพวกแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว โดยการแอบอ้างนำบริษัท GSSG และบริษัท HAINAN GRAIN เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ตามประกาศของกรมการค้าภายใน แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริต ได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับ
อันเป็นการแสวงหาระโยชน์ที่มิควรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรง ถือได้ว่าเป็นการกระทุจริตต่อหน้าที่ในความหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติให้ความหมายคำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่”คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติกรรมที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติ หรือผู้ใดผู้หนึ่ง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1
พิพากษาว่าจำเลย มีความผิด (เดิม) ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี......นี่คือคำตัดสินสะท้านปฐพี...
คราวนี้มาดู คำพิพากษาศาลปกครองในเรื่องที่กระทรวงการคลังให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เป็นเงิน 35,717.2 ล้านบาท แล้วศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เป็นเงิน 35,717.2 ล้านบาท และเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาด
สาระสำคัญคำสั่งศาลปกครองสรุปได้ ดังนี้....การดำเนินโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ลำพังอดีตนายกฯ "ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้" และมีอำนาจหน้าที่เพียงการกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการ มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) "ไม่อาจรับรู้รับทราบข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบัติ"
เมื่อมีการทุจริต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง, มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิดควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว จึงถือได้ว่าอดีตนายกฯ "มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว"
กรณีที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือถึงรัฐบาล เป็นเพียงข้อเสนอแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป มิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่อดีตนายกฯ ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการตรวจสอบ....โปรดอ่านอีกครั้ง...
นอกจากนี้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด การกำหนดสัดส่วนให้อดีตนายกฯ รับผิด จึงมิได้เป็นไปตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 แต่อย่างใด เช่นเดียวกับข้อ 8, 9, 10, 11 และ 17 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ศาลปกครองจึงยังให้เพิกถอนคำสั่งในการยึดและอายัดทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด ของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ด้วย โดยชี้ว่า "คำสั่งรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" จึงไม่มีเหตุที่อดีตนายกฯ จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรมบังคับคดี, อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติฯ ดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด
คำตัดสินของศาลปกครองจึงทำให้คดีนี้ร้อนฉ่า และน่าติดตามว่า ในชั้นของอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดของรัฐบาลนั้น จะออกมาในรูปใด แต่ควรที่จะบันทึกไว้ร่วมกันนะครับว่า “คดีประวัติศาสตร์”
แถมในปี 2560 กระทรวงการคลังขอให้กรมบังคับคดี บังคับทรัพย์สินของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ โดยขออายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หน่วยลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์และกองทุน7.9 ล้านบาท และการจ่ายเงินให้กระทรวงการคลังไปแล้ว นอกจากนี้ ยังยึดที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดหลายรายการกว่า 199.2 ล้านบาท เห็นว่าขายทอดตลาดไปกว่า 50 ล้านบาทแล้ว
บันทึกท้ายบรรทัดตอนนี้ จึงทำหน้าที่แค่ “บันทึกความทรงจำอันเจ็บปวด” ของคนไทยครับ