ธรรมอันชาวบ้านติเตียนพระภิกษุ

05 พ.ค. 2564 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2564 | 12:29 น.

ธรรมอันชาวบ้านติเตียนพระภิกษุ : คอลัมน์ทำมา... ธรรมะ โดย ราช รามัญ

 

โลกวัชชะ อ่านว่า โล-กะ-วัด-ชะ

โดยนัยความหมาย ที่ใช้กันในประเทศไทยนี้ หมายถึง การปฏิบัติหรือพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุ

เราทั้งหลายต้องเข้าใจก่อนว่าตามความเป็นจริงแล้วนั้นพระภิกษุพึ่งอาศัย ด้วย ข้าวสุกขนมสด จากการที่ สาธุชนคนทั้งหลายร่วมกันทำบุญ ตักบาตรในยามเช้า เมื่อคราวที่พระบิณฑบาตร เรียกได้ว่า ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยผู้อื่น

ดังนั้นกิจกรรมต่างๆของพระภิกษุจึงควรอยู่ใน ความสำรวม ให้เหมาะกับสมณสารูป เพื่อเป็นการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับสาธุชน แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงออก โดยนัยที่คาบเกี่ยวกับทางโลก ซึ่งมิใช่ สิ่งที่พระภิกษุพึงควรปฏิบัติ ก็จะถูก ผู้คนทั้งหลายตำหนิติเตียนเอาว่าเป็นโลกวัชชะได้ และเพราะชาวบ้านติเตียนนี้เองในครั้งพุทธกาลจึงนำความไปฟ้องพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์จึงบัญญัติมาเป็นพระธรรมวินัย ให้พระสงฆ์พึงปฏิบัติ

ในยุคปัจจุบันนี้ การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆของบ้านของเมืองโดยเฉพาะในเรื่องของการเมืองก็ตาม ถ้าหากมีผู้มาถามเป็นการส่วนตัวกับพระภิกษุ ก็ควรตอบให้ตามหลักคิดหลักธรรมมากกว่าหลักความคิดความเห็นของตนเอง ที่สำคัญไม่ควรนำเสนอออกสื่อสารมวลชนใดๆทั้งสิ้น เพราะนั่นจะทำให้พระภิกษุขาดซึ่งความเป็นธรรมหรือความเป็นกลาง ในขณะที่ดำรงตนเป็นสมณพระผู้ขอก็จะขาดความงดงามไป 
เคยมีคนถามผมว่า ทำไมพระภิกษุในบางประเทศที่เป็นเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นนิกายเถรวาทเช่นเดียวกันกับประเทศไทย  ทำไมจึงสามารถข้องเกี่ยวกับทางการเมืองได้ พูดได้ แสดงออกได้

จึงบอกเพื่อนคนนั้นไปว่า ด้วยระบบการปกครองของประเทศเพื่อนบ้านนั้นโดยมากจะเป็นระบบสาธารณรัฐ ซึ่งมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะเรา เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข และ ประเทศของเรามี สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ที่ทรงไว้ด้วยพระราชภาระในการอุปถัมภกยอย่อพระพุทธศาสนานับแต่อดีตกาลมาถึงปัจจุบัน เพียงแค่นี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วยในระบอบของการปกครองทั้งคดีโลกและคดีธรรม ซึ่งมิอาจนำเอามาเปรียบเทียบซึ่งกันได้

ดังนั้นพระภิกษุที่ดำรงในพระธรรมวินัยในสยามประเทศนี้ พึงควรปฏิบัติตนให้ตั้งไว้ด้วยพระธรรมและพระวินัยโดยยิ่ง ไม่เป็นผู้ปฏิบัติตนให้เกิดข้อครหาอันแต่ชาวบ้านชาวเรือนนั้นตำหนิติเตียน การที่ มส. (มหาเถรสมาคม)​ มีการตักเตือนพระภิกษุที่แสดงออกสิ่งใดผ่านสื่อโดยไม่ได้เป็นธรรมแลเป็นพระวินัยนั้นสมควรแล้วอย่างยิ่ง เพราะจะสามารถระงับมิให้เกิดโลกวัชชะได้ในระดับหนึ่งเพื่อลดความปั่นทอนในความศรัทธาของมหาชนที่มีต่อศรัทธาในพระพุทธศาสนาด้วย

ขอฝากคำกลอนบทหนึ่ง ที่เคยได้ยินมาแต่ หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล วัดกระโจมทอง บางกรวย นนทบุรี ที่ท่านนำมาสอนพระภิกษุในวัดของท่านเสมอว่า

"บวชกาย กายรูปา

ห่มผ้ากาสา น่าเลื่อมใส

หญิงชายทั้งหลายใด

ใครได้ชมบอกสมทรง

หากบวชแต่ภายนอก

เหมือนยังหลอกให้คนหลง

หากใจไม่ซื่อตรงศีลพระสงฆ์

ก็ไม่มี"