แปลกแต่จริงการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ทางอิเลคทรอนิกส์ มูลค่ารวมกันกว่า 1.28 แสนล้านบาท ในยามที่ทุกสายตามจับจ้องมองไปที่เรื่องความเป็นความตายในเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด หลายคนมองไปในเรื่องความประหลาดพิกล ไม่โปร่งใส
เพราะราคาและผู้ชนะประมูลเป็นตามหน้าสื่อชัดเจนว่าจะมีแค่ 5 ราย ที่น่าจะคว้างาน และการแข่งขันเพื่อฟาดฟันราคาก็จะน้อยมาก จนต่ำกว่าราคกลางเล็กน้อยเท่านั้น
กระแสข่าวออกมาหนาหูว่า “มีผู้ใหญ่” เรียกเคลียร์ เพื่อจัดแบ่งโครงการลดการแข่งขันราคา จะมีการตัดแบ่งให้แต่ละรายได้โครงการเหล่านี้ไป ข่าวหนาหูว่า จะมีรายใหญ่แค่ 5 รายเท่านั้น ที่จะคว้าไป 1.บมจ.ช.การช่าง 2.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอฟนด์ คอนสตรัคชั่น 3.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 4.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 5. 5.บริษัทเอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด
ในที่สุดก็เป็นไปตามคาด 3 โครงการแรก ที่ได้เปิดประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไปในวันที่ 17 พ.ค.2564 เริ่มจาก สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท อีก 2 สัญญาประมูลวันที่ 25 พ.ค.2564 เส้นทางสายอีสานรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร มูลค่า 66,848.33 ล้านบาท
ปรากฏว่า ใน 3 โครงการแรกนั้น สัญญาแรกเส้นทางเด่นชัย-งาว ราคากลาง 26,00 ล้านบาท ประมูลได้ 26,568 ล้านบาท
สัญญาที่สอง งาว-เชียงราย ราคากลาง 26,914 ล้านบาท ประมูลได้ 26,900 ล้านบาท
สัญญา3 เชียงราย-เชียงของ ราคากลาง 19,407 ล้านบาท ประมูลได้ 19,390 ล้านบาท
ผู้ชนะมาตามนัดเป๊ะ และราคาที่ชนะการประมูลไปนั้นต่ำกว่าราคากลาง 13-16-31 ล้านบาท เท่านั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทยพยายามบอกว่า การเปิดการประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นรูปแบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในการประมูลงานภาครัฐที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการสมยอมกันระหว่างผู้รับจ้างในการฮั้วราคา หรือ ตกลงราคากัน
เพราะเป็นการเสนอราคาที่ต่างคนต่างยื่นประมูลโดยไม่ทราบ ณ เวลานั้นว่า จะมีใครเข้าร่วมประมูลบ้าง และประมูลในราคาเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้
แต่มีคนบอกผมว่า เขารู้กันว่า มีพลายกระซิบบอกรหัสลับกันในการเสนอราคาให้ต่ำกว่าราคกลางแค่ “13-31” และ “23-32”
และในที่สุดก็เป็นเช่นนั้น สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กิโลเมตร (กม.) มีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 17 ราย โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า ITD-NWR ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) หรือ NWR เสนอราคาต่ำสุด 26,568 ล้านบาท จากราคากลาง 26,599 ล้านบาท
สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. มีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 18 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เสนอราคาต่ำสุดที่ 26,900 ล้านบาท จากราคากลาง 26,913 ล้านบาท
สัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. มีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 16 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE เสนอราคาต่ำสุดที่ 19,390 ล้านบาท จากราคากลาง 19,406 ล้านบาท
“ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค และข้อเสนอราคา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะประกาศได้ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ และหากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ใดๆ คาดว่าจะลงนามได้ประมาณวันที่ 2 ส.ค.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี เพื่อทันต่อเป้าหมายเปิดบริการในปี 2571”
ผมบอกมาก่อนล่วงหน้าการประมูลด้วยซ้ำไปว่า จะมีขาใหญ่ 5 รายนี่แหละได้ไปส่วนจะมีการดึงใรมาจอยเวนเจอร์นั้นเรื่องเล็ก
เรื่องที่ใหญ่กว่าคือมี “ขาใหญ่” จัดการเรื่องนี้และกับ “เงินทอนก้อนโต” ชนิดที่ทำรวดเดียวสบายบรื๋อ...วงการรับเหมาเขายกมือมาไขว้กันครับ!
กระทั่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 เรื่อง จับตาโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 5 สัญญา “ส่อฮั้วประมูล” มีไอ้โม่งขาใหญ่อยู่เบื้องหลังหรือไม่ ???
เนื้อหาระบุว่า จากการติดตามการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร ทั้ง 3 สัญญา พบว่า การประมูลทั้ง 3 สัญญา มีข้อน่าสงสัยในเรื่องความโปร่งใส และน่าสังเกตว่าแต่ละสัญญามีผู้ซื้อซองจำนวนมาก แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาเพียงสัญญาละ 2 รายเท่านั้น
สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท มีผู้ยื่นเสนอราคา ต่ำกว่าราคากลาง 31 ล้านบาท คิดเป็น 1.12%
สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้านบาท มียื่นเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 13 ล้านบาท คิดเป็น 0.05%
สัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท มีเสนอราคากว่าราคากลาง 16 ล้านบาท คิดเป็น 0.08%
การเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางก็เป็นเหมือนที่ผมว่า “13-31-16 ล้านบาท” จึงเป็นที่น่าผิดสังเกต และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชน โดยมูลค่าต่ำกว่าราคากลางแค่หลักไม่กี่สิบล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เมื่อเทียบกับการประมูลโครงการก่อสร้างอื่นๆ
การดำเนินโครงการนี้ส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใส เป็นการล๊อคสเปก ฮั้วประมูลหรือไม่ หรือว่ามีไอ้โม่งขาใหญ่คอยทำหน้าที่ซอยสัญญาแบ่งเค้ก จัดสรรผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง?...นี่คำถาม
ชุดต่อไปมีการประมูลรถไฟทางคู่สายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร แบ่งการประมูลออกเป็น 2 สัญญา
สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123 ล้านบาท มีผู้รับเหมาซื้อซอง จำนวน 16 ราย ยื่นเคาะราคา 4 ราย โดยบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด จอยต์เวนเจอร์กับบริษัทรับเหมาท้องถิ่นเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 27,100 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท มีผู้รับเหมาซื้อซอง 16 ราย ยื่นซอง 4 ราย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน )จอยเวนเจอร์กับบริษัทรับเหมาท้องถิ่นเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 28,310 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23 ล้านบาท
การประมูล 2 โครงการนั้น ปรากฏว่า ต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยเพียงสัญญาละ 23 ล้านบาท เท่านั้น โพยหวยที่ผู้รับเหมาบอกถูกอีกครับ!
ราคาที่ประมูลได้ใกล้เคียงกับราคากลางมาก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
รถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 66,848.33 ล้านบาท มีค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ 55,462 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,131 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) หรือประมาณ 17,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครพนม มี 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง
นับเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เป็นคันทางระดับดินและทางรถไฟยกระดับ ก่อสร้างสถานี และ Stabling Yard ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนลอดใต้ทางรถไฟ และรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง และก่อสร้างรั้วสองข้างตลอดแนวเส้นทาง พร้อมทั้งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 48 เดือน กำหนดเปิดเดินรถในปี 2568
ถ้าหากมีการประมูลแล้วมีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางแบบนี้ ควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล
การที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ออกมาบอกแต่เพียงว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการตามขั้นตอน การจัดซื้อจัดจ้าง ประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งใช้กับทุกโครงการทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะโครงการของการรถไฟฯ เท่านั้น มีการกำหนดคุณสมบัติ ผู้เข้าเสนอราคา ไว้ตามระเบียบ โดยกำหนดเรื่องการใช้วัสดุภายในประเทศ หรือ Local Content ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลด้วย ซึ่งการเสนอราคา e-bidding ไม่สามารถกำหนดว่าจะให้ใครเสนอราคาเท่าไร หรือให้ใครเป็นผู้ชนะการประมูลได้ โดยมีการยื่นเสนอราคาตามขั้นตอน และเมื่อครบกำหนดเวลายื่นเสนอราคา ทางกรมบัญชีกลางจะรายงานผล ขณะที่การรถไฟฯ จะพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติของผู้เสนอราคา และพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
“เรื่องนี้จึงไม่มีประเด็นหรือการดำเนินการใดที่มีลักษณะไม่โปร่งใส หรือผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตมา ผมรับฟังและได้ตรวจสอบ ซึ่งยังไม่พบข้อผิดปกติหรือขัดต่อระเบียบใดๆ”
ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกการประมูล นั้น รมว.ศักดิ์สยาม บอกว่า จะทำให้เป็นการเสียโอกาสมากกว่า ได้ประโยชน์ โครงการนี้มีราคากลาง มีการคำนวนตามหลักต้นทุน ที่เหมาะสม จึงอยากให้ผู้ที่ร้องเรียนหรือตั้งข้อสังเกตุ หากเป็นผู้ประกอบการ อยากให้เข้ามาเสนอราคา เพื่อจะได้เสนอราคาที่ต่ำกว่านี้ หากเห็นว่า ราคาที่ประมูลได้ยังแพงเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า...
ผมว่า จิ้งจกทักคนยังต้องเงียหูฟัง แต่นี่เขาบอกมาตั้งแต่ต้น ย่อมต้องมีไฟ ถ้าเราจะร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต เราต้องลงไปดูครับ อย่ามาบอกว่า ราคาของแพง ตอนนี้ใครก็อยากได้งานครับ และเทคโนโลยีก็มาทำให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลงทั้งสิ้น มิใช่แพงข้นแต่อย่างใด
อีกทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายเรื่อง “การปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ” รัฐบาลจึงควรตรวจสอบความไม่โปร่งใสของโครงการนี้เป็นการเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชน อย่าปล่อยให้ไอ้โม่ง หรือ ขาใหญ่คนไหนที่เรียกใครหลายคนไปแบ่งซอยงาน “กินหัวคิว” ไปจากราคาที่ควรจะลดจากราคากลาง
เขาว่ากันว่า ต้นทุนที่แท้จริงหากมีแรงแข่งราคาใน 5 เส้นทางในปัจจุบันนั้น ควรจะต่ำกว่านี้ 10,000 ล้านบาท ขอรับนายท่าน!