รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หากได้ฟังวันนี้ คงแจ่มแจ้งกันว่า"เหตุ" และ"ผล" ที่เห็นทั้งในระลอกแรก และระลอก"สอง"/ระบาด"ซ้ำ" นั้นคืออะไร
และหากตามสถานการณ์มาตลอดก็ย่อมจะใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ได้ว่า การมองคุณค่าของชีวิตคนนั้น หากมองจากวิชาชีพสุขภาพอย่างแท้จริงจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการมองเชิงพาณิชย์
สถานการณ์วิกฤติ สุขภาพต้องมาก่อนเศรษฐกิจ
ภายใต้สัจธรรมที่ว่า ชีวิตคนนั้นมีคุณค่าเกินกว่าจะประเมินได้ หากมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ก็จะสามารถทำมาหากิน ฟื้นฟูสถานภาพได้ แต่หากเจ็บป่วยจนเสียชีวิต ก็จะไม่สามารถเสกคาถาให้กลับคืนมาได้อีกต่อไป
แต่หากวิกฤติ แล้วยังไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ...ก็ย่อมเห็นปลายทางว่าจะจบอย่างไร หากไม่มีอะไรมาจัดการต้นตอสาเหตุให้หมดไปได้ทันเวลา
คนเชื่อในกฎแห่งกรรม จะเชื่อมั่นว่า ใครทำบุญย่อมได้บุญ ใครทำบาปย่อมได้บาป แม้บุญหรือบาปนั้นจะมาทันใจหรือไม่ทันใจ ทันเวลาหรือไม่ทันเวลาก็ตาม อย่างน้อยที่สุดจะติดตรึงในก้นบึ้งของจิตใจ และชดใช้กันตอนวาระสุดท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ตาม เรื่องบุญหรือบาป ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถไปจัดการหรือทำอะไรได้
สิ่งที่เราพอจะทำได้ในฐานะปุถุชนคนธรรมดาที่ยังมีชีวิตอยู่คือ การรู้ในสิ่งที่ควรรู้ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ และดูแลตนเองและครอบครัวให้ดีในสถานการณ์วิกฤติครับ
จากการคาดประมาณโดยใช้บทเรียนของ 75 ประเทศทั่วโลกที่ผ่านการระบาดซ้ำมาก่อน หากเราไม่สามารถจัดการลดทอนการระบาดตอนนี้ลงมาได้ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า คาดว่าจะดำเนินรอยตาม 88% ของประเทศต่างๆ ที่มีระบาดซ้ำที่แรงกว่าเดิม และนานกว่าเดิม แม้จะพยายามเข็นมาตรการเข้มข้นเต็มที่ออกมาภายหลังพ้นช่วงเวลาทอง (4 สัปดาห์นับจากเริ่มการระบาด) ก็ตาม
ยอดการติดเชื้อสูงสุดต่อวันจะประมาณ 940 คน (คาดประมาณโดยใช้มัธยฐานของกลุ่มประเทศที่ระบาดรุนแรง) และต้องสู้กันยาวนาน 88 วัน โดยมีจำนวนเคสติดเชื้อในระลอกนี้ประมาณ 23,000-33,000 คน และอาจมีการสูญเสียชีวิตราว 400-600 คน
สิ่งที่น่ากังวล และทำให้เราควรวางแผนชีวิตของตนเองให้ดีคือ การระบาดหลากหลายกลุ่มในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และมีหลายการแพร่ระบาดใหญ่ที่กระจายวงกว้างในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สองสัญญาณนี้บ่งถึงแนวโน้มที่จะคุมโรคไม่ได้ และจะทวีความรุนแรงในเวลาอันใกล้
ยิ่งแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นนั้น ดูจะเป็นกลุ่มเสี่ยงทางพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือจุดที่เปราะบางทางสังคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้ ตลาด แรงงานต่างด้าว โรงงาน สถานบันเทิง รวมถึงบ่อนการพนัน
กลุ่มต่างๆ ข้างต้นมีลักษณะแออัดใกล้ชิด เข้าถึงได้ยาก และอยู่ในมุมมืดทางสังคม และแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นล้วนแพร่กระจายกันไปมากมาย
สำหรับผมแล้วเรื่องเหล่านี้ชี้บ่งว่า โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยเราจำนวนมากนั้นมีโอกาสที่จะถูกไวรัสโจมตีอย่างรุนแรงได้ และจะนำไปสู่ภาวะ multiple superspreading หรือการกระจายวงกว้างอย่างพร้อมกันหลายจุดต่อจากนี้ได้หากไม่เฝ้าระวังและป้องกันให้ดี
จากนี้ไปอาจมีโอกาสเกิดสูงในตลาดอื่นๆ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร งานแต่งงาน งานศพ งานวัด งานบวช งานแสดงต่างๆ เคาน์ทดาวน์ ฯลฯ
หลังวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หากจัดการเคาน์ทดาวน์ไม่รอบคอบ อาจเกิดปัญหาการแพร่ระบาดพุ่งขึ้นมาให้เห็นภายในกลางมกราคม ควบคู่ไปกับจำนวนที่อาจเพิ่มขึ้นมาจากการโปรโมทการท่องเที่ยวที่จะปรากฏให้เห็นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
สิ่งที่เราแต่ละคนจะทำได้ดีที่สุดตอนนี้คือ
...อยู่บ้านกันนะครับ...
...ออกจากบ้านยามจำเป็น และต้องใส่หน้ากากเสมอ เพื่อป้องกันทั้งตัวเองและผู้อื่น...
...คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรื้อท้องเสีย ขอให้รีบไปตรวจรักษาอย่าปล่อยทิ้งไว้...
...หากระหว่างช่วงนี้จนถึงกลางมกราคม มีข้อสงสัยใดๆ ขอให้ปรึกษากับแพทย์ประจำตัวหรือที่ท่านรู้จัก จะได้คลายข้อสงสัยและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม... ขอให้ปลอดภัยและมีความสุข ...ด้วยรักต่อทุกคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดเป็นเหตุ! สำนักงานเขตบางกอกน้อย ปิดส่วนบริการทะเบียน
ปทุมธานีเช็กด่วน!เปิดพื้นที่เสี่ยง"ผู้ติดเชื้อโควิด"รายใหม่
รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 29 ธ.ค.63 แบบอัพเดทล่าสุด
โควิด-19 ลามไม่หยุด ติดเชื้อเพิ่มเป็น 45 จังหวัด
ยอดโควิด 29 ธ.ค.63 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 4.35 แสนราย รวม 81.60 ล้านราย
"หมอธีระ" ชี้ สิ้นปีนี้หากโควิดในไทยยังไม่ดีขึ้นจะมีผู้ติดเชื้อใหม่ 3.3หมื่นคน