รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat " เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในประเทศไทย โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
วันนี้หัวค่ำแล้ว อยากเล่าให้พวกเราฟังอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรก: คาดการณ์ผลลัพธ์ของศึกระบาดซ้ำครั้งนี้
ด้วยมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงที่เรากำลังทำอยู่นั้น ยังมีข้อจำกัดหลักคือ การไม่สามารถจำกัดการเดินทางของคนได้ และไม่สามารถลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อได้อย่างเต็มที่
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้มากทีเดียวว่า แม้จะพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ผลลัพธ์ของการศึกครั้งนี้จะไม่เหมือนระลอกแรก
หากดูจากประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยระบาดซ้ำกันมาแล้ว คาดว่า ณ ปลายมีนาคม เราอาจกดการระบาดลงมาได้ โดยจะมีผลลัพธ์ใน 2 ลักษณะคือ
หนึ่ง ฉากที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้คือ มีจำนวนการติดเชื้อต่อวันอยู่ในระดับหลักสิบหรือหลักหน่วย
และสอง ฉากที่ลำบากหน่อยคือ มีจำนวนการติดเชื้อต่อวันยังอยู่ระดับหลักร้อย
ไม่ว่าจะเป็นไปในแบบที่หนึ่งหรือแบบที่สอง การป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดคงยังต้องมีต่อไปเรื่อยๆ และอาจยาวไปถึงกลางปี 2565 เพราะวัคซีนยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมในปีนี้
นอกจากนี้ หากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายหรือบริการหรือท่องเที่ยวให้เน้นเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อ การระบาดซ้ำในระลอกถัดมาย่อมมีโอกาสสูง เนื่องจากยังมีการติดเชื้อภายในประเทศอยู่ไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้หากระดับการติดเชื้อต่อวันอยู่ในระดับหลักสิบหรือหลักหน่วย เราอาจมีโอกาสระบาดซ้ำเป็นระลอกสามภายในปีนี้ได้ แต่หากเป็นหลักร้อย โอกาสระบาดซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วย
นี่จึงเป็นสิ่งที่เราควรรับรู้รับฟัง และนำไปวางแผนชีวิตเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน รัฐ และเอกชนก็เช่นกัน หากวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ก็จะช่วยให้เกิดการจัดการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยามที่เกิดขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม หากรัฐตัดสินใจดำเนินมาตรการที่เข้มข้นเคร่งครัดกว่าปัจจุบัน ได้ทันเวลา โอกาสเปลี่ยนฉากก็ยังมี...
เรื่องที่สอง: สมรรถนะการเอาตัวรอดจากภัยโรคระบาดครั้งนี้และครั้งถัดๆ ไป
สำหรับผมแล้ว เชื่อในหลักการส่งเสริมให้คน กลุ่มคน หรือชุมชน มีสมรรถนะ/ความสามารถในการที่จะเรียนรู้ และจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งเป้าให้สามารถมีชีวิตรอดได้ยามวิกฤติ
ยามใดที่เกิดปัญหาวิกฤติขึ้นมา หากคนของเรา ชุมชนของเรา สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ สามารถสงสัยและค้นหาข้อมูลมาไขความสงสัยของตนเองได้ และได้ข้อมูลมาแล้วสามารถทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถ่องแท้ จากนั้นนำความรู้จากข้อมูลที่ได้มานั้นมาใช้แก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤติที่ตนเองหรือชุมชนของตนกำลังเผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม...ครบกระบวนการที่กล่าวมา ก็ถือว่า"บรรลุแล้ว"
การจะทำให้เกิดสมรรถนะหรือความสามารถดังกล่าวขึ้นมาได้ เราต้องช่วยกันฝึกฝน ให้คนของเรา ทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ให้เค้าเหล่านั้นชอบในการสังเกต ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบโดยฟัง พูด ถาม เขียนแลกเปลี่ยน จากแหล่งข้อมูลหลากหลายแหล่ง แล้วสอนให้สังเกตว่าเหมือนหรือต่างกัน เอาเหตุและผลมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบ และอธิบายปรากฏการณ์ปัญหาสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเข้าใจต้นตอสาเหตุ และหาทางแก้ไข
กระบวนการข้างต้น เป็นหน้าที่ทั้งของรัฐที่จะส่งเสริม เกื้อหนุน ผ่านกลไกต่างๆ ที่มี ตลอดจนเป็นหน้าที่ของทั้งชุมชนและครอบครัว ที่จะหาทางทำให้คนของเราสามารถฝึกกระบวนการต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง
ฟังดูยาก และใช้เวลานาน แต่หากทำได้ก็ควรเริ่มทำตั้งแต่บัดนี้
เราจะไม่สามารถพัฒนาคนของเราได้ หากมุ่งเน้นที่จะบอกให้คนของเราฟังจากประกาศของหน่วยงานแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหลายครั้งอาจไม่ทันกาล ดังเช่นที่เราเห็นการระบาดเริ่มต้นที่จีน ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวและเตรียมตัววางแผนใช้ชีวิตไว้ได้เพราะรับทราบสถานการณ์ผ่านทางเครือข่ายสังคม เป็นต้น
นอกจากนี้ บางโอกาส อาจเกิดปัญหาความคลาดเคลื่อนของการรายงานของหน่วยงาน เช่น รายงานบางส่วนที่อยากรายงาน หรือสรุปไปในแนวที่อยากสรุป โดยไม่ได้มีการบอกรายละเอียดทั้งหมด หรือไม่ได้สอนให้คนของเราได้คิดตาม โดยใช้ความรู้ทางวิชาการ และหลักเหตุและผล
ธรรมชาติของการระบาดรุนแรงเช่นนี้ จะอยู่รอดปลอดภัยกันไปได้ ต้องอาศัยแรงกายแรงใจแรงปัญญาของทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน
เราเริ่ม class กันตั้งแต่ตอนนี้ในทุกระดับ ก็ยังไม่สาย
ด้วยรักต่อทุกคน