รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat"เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีกิจกรรม การเดินทาง มีการพบปะกับคนหมู่มาก รวมไปถึงความคืบหน้าของการทดลอง และ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ยืนยันและมั่นใจตามหลักวิชาการแพทย์ว่า หากไม่จำกัดการเคลื่อนที่ของประชากรในพื้นที่ และยังมีกิจการกิจกรรมที่ติดต่อกันจำนวนมาก ทั้งห้าง ตลาด ตลาดนัด วัด ร้านอาหาร ที่ท่องเที่ยว โรงแรม โรงงาน งานแต่ง งานบวช งานศพ ปาร์ตี้ รวมถึงสถานบันเทิง
ยังไงต้องมีโอกาสแพร่เชื้อและติดเชื้ออย่างแน่นอนครับ
อยู่ที่ว่าตรวจหรือไม่ ก็เท่านั้น...
และจะปะทุขึ้นเมื่อถึงเวลา...
ถึงยามนั้น จะเอาไม่อยู่...
หลายประเทศที่ใช้มาตรการยืดหยุ่น และเน้นเศรษฐกิจนำสุขภาพ ล้วนเจอชะตากรรมเดียวกันทั้งสิ้น และจะลำบากหนักระยะยาว
ขอให้ประชาชนเราป้องกันตัวเองให้เต็มที่...โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง
เอาใจช่วยทุกคน...
นอกจากนั้นแล้ว"หมอธีระ"ยังได้อัพเดตเกี่ยวกับวัคซีนที่ฉีดในอเมริกา ตอนนี้มีสองตัวคือของ Pfizer/Biontech และของ Moderna ทั้งคู่เป็น mRNA vaccine
ถึงวันพุธที่ผ่านมา อเมริกาฉีดไปแล้ว 4.8 ล้านโดส ทาง US CDC ได้รับรายงานการมีอาการไม่พึงประสงค์ประมาณ 4,400 ครั้ง
อัตราการเกิดอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) อยู่ที่ประมาณ 11.1 ครั้งต่อการฉีด 1,000,000 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นรายงานจากผู้ที่ได้รับวัคซีนของ Pfizer/Biontech ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ฉีดไปก่อน Moderna หนึ่งสัปดาห์
อัตราการแพ้รุนแรงนั้น เกิดขึ้นพอๆ กับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีราว 13 ครั้งต่อการฉีด 1,000,000 ครั้ง โดยรวมถือว่าพบการแพ้รุนแรงค่อนข้างน้อย คาดว่าเดี๋ยวจะมีรายงานจำแนกในแต่ละชนิดของวัคซีนอีกครั้ง
ในขณะที่อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงนั้น พบอาการต่างๆ เช่น ผื่นคัน ระคายคอ ฯลฯ โดยอาการส่วนใหญ่นั้นมักเกิดขึ้นภายในครึ่งชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน
หากลองมาดูภาพรวมของสถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลก...
นับถึงเมื่อวานนี้ 7 มกราคม 2564 มีการฉีดวัคซีนรวมทุกชนิดไปแล้วทั้งสิ้น 17.13 ล้านโดส
5 อันดับแรกคือ อเมริกา (5.92 ล้านโดส) จีน (4.5 ล้านโดส) อิสราเอล (1.59 ล้านโดส) สหราชอาณาจักร (1.3 ล้านโดส) และสหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ (0.88 ล้านโดส)
คิดเป็นสัดส่วนของคนที่ได้รับวัคซีนต่อจำนวนประชากร 100 คน พบว่า 5 อันดับแรกคือ อิสราเอล (18.4 คน) สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ (8.98 คน) บาร์เรน (4.25 คน) สหราชอาณาจักร (1.91 คน) และอเมริกา (1.79 คน)
วัคซีนของ Pfizer/Biontech มีการใช้ใน 42 ประเทศ ทั้งในอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง
วัคซีนของ Moderna ใช้ใน 2 ประเทศ คือ อเมริกา และแคนาดา
วัคซีน Sputnik-V ใช้ใน 2 ประเทศ คือ รัสเซีย และอาร์เจนตินา
วัคซีนของ Astrazeneca/Oxford ก็เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรก และเริ่มฉีดไปไม่กี่วันที่ผ่านมา
วัคซีนของ Sinopharm ใช้ใน 2 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ และบาร์เรน
ส่วนวัคซีนของ Sinovac และ CNBG ตอนนี้ใช้ในจีน
ทั้งนี้วัคซีนจากจีนหลายชนิดนั้นมีข่าวว่าจะทำการจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ อีกหลายประเทศเพื่อใช้ในการควบคุมโรคระบาดนี้ โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานควบคุมกำกับด้านวัคซีนของแต่ละประเทศ เพื่อดูเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพการป้องกัน อันเป็นกระบวนการมาตรฐาน ก่อนนำมาใช้ในประชาชน
สถานการณ์เรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระจายวัคซีนไปให้แก่ประชาชน โจทย์สำคัญคือ กำลังการผลิตวัคซีนของทั่วโลกนั้นยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงของทั้งโลก
ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาเรียงลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้รอบคอบ ในสถานการณ์ที่ยังตอบได้ยากว่าจะต้องพิจารณาวัคซีนเหล่านี้เป็น public goods ที่รัฐต้องจัดหาให้ประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือจะปล่อยกลไกตลาดเข้ามามีบทบาทมากน้อยเพียงใด
เชื่อว่าจะต้องมีการพิจารณาเปิดเวทีเพื่อหาทางออกหรือวางแผนสำหรับเรื่องนี้โดยเร็ว
เมื่อทราบกันเช่นนี้ เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเราทุกคน ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนควรจะรักตัวเอง ปกป้องตัวเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อครับ