16 กุมภาพันธ์ 2564 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาหัวข้อโควิด-19 กลายพันธุ์มีความน่ากังวลแค่ไหน (SARS-CoV-2 Variants of Concern (VOC): What is the concern? ) ซึ่งจัดขึ้นโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯว่า ในปัจจุบันโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยปัจจัย เช่น ตัวไวรัส สิ่งมีชีวิต และการรักษา มีผลทำให้เกิดการติดเชื้อและการแพร่กระจายที่เร็วขึ้น และบางสายพันธุ์อาจจะลดประสิทธิภาพการใช้วัคซีนลง เช่น สายพันธุ์ B.1.351 เจอในแอฟริกาใต้ ที่มีการกลายพันธุ์ด้านนอกไวรัส แต่มีการเพิ่มตำแหน่งกลายพันธุ์ ที่สำคัญ คือ E484K ที่อาจจะทำให้ไวรัสมีการหนีภูมิคุ้มกันที่อาจจะเกิดจากวัคซีน
เพราะฉะนั้น คนที่ได้รับวัคซีนในพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสนี้อยู่อาจจะลดประสิทธิภาพการตอบสนองต่อวัคซีนในหลายตัว อย่างวัคซีนของ J&J, NANOVAX และ AstraZeneca/Oxford หรือ การป้องกันความรุนแรงของโรค
ในส่วนสายพันธุ์ B.1.1.7 ที่พบในอังกฤษ ที่สามารถเกาะกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดี ข้อมูลในห้องทดลองพบว่า จะสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ปกติถึง 40-70% มีส่วนในการเพิ่มอัตราการเสียชีวิต และในสายพันธุ์ P.1 ที่พบในบราซิล ที่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก เพราะมีผลต่อการควบคุมและการตอบสนองต่อวัคซีน
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา พบคนที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 จำนวน 3 ราย แบ่งเป็น 1 ราย เดินทางมาจากประเทศแทนซาเนีย และในวันนี้จะมีการรายงานพบอีก 2 ราย เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ อยู่ระหว่างการรายงานเข้าในระบบ รวมแล้วพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้ว 3 คน ดังนั้น ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้สายพันธุ์นี้กระจาย
"จากข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศ พบว่า ขณะนี้สายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่าย ล่าสุด พบกลายพันธุ์อีกรอบโดยพบความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ที่เจอในแอฟริกาใต้ ดังนั้น การป้องกันไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในไทย คือ การตรวจคนเข้ามาในประเทศอย่างเข้มงวด การสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการระบาดในคน และการได้รับวัคซีน ที่อาจจะช่วยตัดวงจรไวรัสกลายพันธุ์ได้” นพ.โอภาส ระบุทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยอดติดเชื้อโควิด 16 ก.พ.64 รายใหม่ 72 หายป่วยเพิ่ม 680 สะสม 24,786 ราย
"ปทุมธานี"ติดเชื้อโควิด-19เพิ่มต่อเนื่องอีก 48 ราย ป่วยสะสม 262 ราย
"หมอเฉลิมชัย" ชี้โควิด-19 ปทุมธานีคุมยากกว่ามหาชัย กระจายแล้ว 9 จังหวัด 183 ราย
หมอยงแนะไทยจัดวัคซีน AstraZeneca - Johnson and Johnson - Sputnik V
หมอธีระชี้ปัญหาโควิด-19 แพร่กระจายมาจากการใช้นโยบายที่ยืดหยุ่น