ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ถือเป็นการระบาดใหญ่ในรอบ100 ปี หลังจากที่เคยมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 2461 หากไม่มีการดำเนินการใดๆประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิต 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 7 แสนคน และใช้เวลา 2 ปีโรคจึงจะสงบ
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ได้มีมาตรการต่างๆและการใช้ชีวิตแบบวิถีชีวิตใหม่ ทำให้สามารถลดการระบาด ลดการสูญเสียได้อย่างมาก ทำให้ไทยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 80 คน และการมาของวัคซีนโควิด-19 จะมาทดแทนการป่วยช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ยังได้เปิดเผยข้อมูล ข้อควรรู้ -คลายข้อสงสัยต่างๆเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด -19 ดังต่อไปนี้
ถาม:ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยนำเข้ามา
ตอบ:วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคที่จะฉีดให้ผู้ที่อยู่ในประเทศไทย มีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรคได้ดี โดยป้องกันการป่วยที่มีอาการน้อย ต้องพบแพทย์แบบผู้ป่วยนอกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่ต้องพบแพทย์ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์
ถาม:ทำไมไม่ฉีดวัคซีนซิโนแวคให้คนที่มีอายุ 60 ปี
ตอบ:สาเหตุที่ยังไม่ฉีดในคนที่มีอายุ 60 ปีนั้น เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ มีการศึกษาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ จึงยังไม่ทราบผลในการป้องกันโรค และอาการแทรกซ้อน คาดว่ารอผลการศึกษาประมาณ 2 เดือน เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นอาจปรับเปลี่ยนได้
ถาม:จะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อไหร่
ตอบ:กระทรวงสาธารณสุขมีกฎเกณฑ์จัดลำดับการฉีดตามความเสี่ยง ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 220 ล้านโดส บางประเทศ เช่นอิสราเอล ฉีดเข็มแรกครอบคลุมประชากรถึง 80 เปอร์เซนต์ พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงกว่าครึ่ง อัตราการตายต่อวันลดลง ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนหมู่มากมันสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถาม:อาการแทรกซ้อนหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19
ตอบ:ข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ฉีด 13 ล้านคน มีอาการแพ้รุนแรง 5 คนในล้านคน เกิดอาการขณะอยู่ในโรงพยาบาล ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนภาพรวมหลังการฉีด 220 ล้านโดส มีผู้เสียชีวิต 113 ราย เมื่อสอบสวนแล้วพบว่าไม่มีรายใดที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโดยตรง ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ และโรคประจำตัว อาการที่พบส่วนใหญ่เป็นอาการหลังการฉีดวัคซีนทั่วไป เช่น เจ็บ ปวดเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด มีไข้ จึงขอให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน
ถาม:การฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรฉีดชนิดใด
ตอบ:วัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนกาที่นำมาฉีดในประเทศไทย มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ดี ไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เมื่อมีวัคซีนก็จะมีการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยการฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันเรา ป้องกันเขา และยังเป็นการป้องกันคนรอบข้าง ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้มารับการฉีดวัคซีน เป็นการฉีดเพื่อชาติ เพราะเมื่อมีการฉีดจำนวนมาก โรคนี้ก็จะสงบลง ชีวิตความเป็นอยู่ของเราจะกลับคืน ฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อได้ ซึ่งผลสำรวจประชาชนกว่า 30,000 คน พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ต้องการฉีดวัคซีน
ถาม:จำเป็นที่ต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีดวัคซีนหรือไม่
ตอบ:ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ จะตรวจเฉพาะเมื่อนำข้อมูลไปใช้สำหรับการศึกษาวิจัยเท่านั้น
ถาม:ผู้ที่มีอายุ 90 ปี ฉีดวัคซีนได้หรือไม่
ตอบ:อายุไม่ได้เป็นปัจจัยที่เป็นข้อห้ามไม่ให้ฉีดวัคซีน โดยวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนกาฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนซิโนแวคต้องรอข้อมูลอีกระยะหนึ่ง
ถาม:ฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่
ตอบ:เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงยังไม่อยากให้ฉีดพร้อมกับวัคซีนอื่น เพราะหากมีอาการข้างเคียงจะไม่ทราบว่าเกิดจากวัคซีนใด จึงให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีป้องกันโรครุนแรงถึงชีวิต สามารถฉีดได้ เช่นถูกสุนัขกัด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษป้องกันโรคสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันบาดทะยัก
ถาม:การฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 คนละชนิดได้หรือไม่
ตอบ:ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในวัคซีนโควิด-19 อยู่ระหว่างทำการศึกษา คาดว่าในอีก 3 - 4 เดือนจะทราบผล จึงขอให้ฉีดชนิดเดียวกันก่อน
ถาม:เด็กควรจะได้รับวัคซีนหรือไม่
ตอบ:เด็กควรจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะต้องได้รับวัคซีน เพราะส่วนใหญ่เด็กติดเชื้อโควิด-19 มีอาการป่วยไม่รุนแรง
ถาม:เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะเป็นโรคโควิด-19 ได้หรือไม่
ตอบ:เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ก็มีโอกาสป่วยได้ เนื่องจากวัคซีนป้องกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังฉีดวัคซีน ถ้าเป็นโรค ส่วนใหญ่อาการน้อยลง ลดอัตราการเสียชีวิต ลดความรุนแรงที่จะเข้าโรงพยาบาล
ถาม:คนท้อง-ให้นมบุตรฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่
ตอบ:โดยปกติคนท้องสามารถฉีดวัคซีนได้ ถ้าเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย แต่เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่เคยมีการศึกษาในคนท้อง จึงยังไม่ฉีดให้คนท้องฉีด ยกเว้นกรณีมีความเสี่ยงเป็นบุคลากรด้านหน้า จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนการฉีดวัคซีนในสตรีไม่มีความจำเป็นต้องตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่หากรู้ว่าตั้งครรภ์จะไม่ฉีดเข็มที่ 2
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.เลื่อนฉีดวัคซีนนายกรัฐมนตรี
"หมอยง"ไขข้อสงสัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วสามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่
วัคซีน “SINOVAC 20,040 โดส” ถึง ร.พ.สมุทรสาครแล้ว
แจงใช้วัคซีน”แอสตร้าเซนเนก้า”หลังผ่านยืนยันคุณภาพ